จุฬาฯ พัฒนา “นวัตกรรมเพื่อยกระดับความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ ให้กับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุสำรองและสูงอายุ” ผลงานวิจัยระดับดี สาขาสังคมวิทยา จาก วช.

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
“นวัตกรรมเพื่อยกระดับความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุสำรองและสูงอายุ โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจสมานฉันท์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล” ผลงาน ของ รศ.ดร.รัตติยา ภูละออ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการวิจัยร่วมกับ สถาบันเอเชีย และคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดี (สาขาสังคมวิทยา) ประจำปี 2567 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผลงานวิจัยที่มีความโดดเด่นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบัน และผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุที่ทำงานนอกระบบ ให้สามารถใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการหารายได้เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ยังต้องการทำงานและหารายได้
.
.
รศ.ดร.รัตติยา ภูละออ เผยถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ว่า เพื่อวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาทักษะความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้สูงอายุสำรองและผู้สูงอายุ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมส่งเสริมการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเน้นการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างเศรษฐกิจสมานฉันท์ ตลอดจนวิเคราะห์ข้อเสนอแนะแนวทางและนโยบายที่สามารถส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
.
กระบวนการทำงานวิจัยเป็นการวิเคราะห์และสังเคราะห์สภาพปัจจุบัน ทบทวนสถานการณ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จากการสำรวจเอกสารแล้ว จึงใช้วิธีการวิจัยแบบผสมเชิงคู่ขนาน โดยการวิเคราะห์เชิงปริมาณกับผู้สูงอายุสำรองและผู้สูงอายุจำนวน 1,605 คน ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปัดตานี และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์และจัดระดมความเห็น จากนั้น นำมาออกแบบ สร้าง ประเมิน และทำการทดลองใช้นวัตกรรมต้นแบบ ตามผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณและคุณภาพ แล้วจึงปรับปรุงนวัตกรรมระหว่างการใช้งาน สุดท้ายจึงทำการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล และสังเคราะห์แนวทางต่อยอดการนำไปใช้ ทั้งเชิงวิชาการ และเชิงการสร้างความเข้มแข็ง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสมานฉันท์ต่อไป
.
จุดเด่นของงานวิจัยที่ทำให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดี
.
งานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์แนวทางส่งเสริมอาชีพและรายได้ โดยเน้นไปที่กลุ่มแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุสำรองและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นตัวช่วยเสริมแนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลของผู้สูงอายุให้เกิดความเป็นธรรม งานวิจัยนี้สามารถสร้างนวัตกรรมทำให้เกิดดิจิทัลแพลตฟอร์มที่นำไปทดลองใช้เบื้องต้นในบางชุมชน พบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้จริง นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายขององค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการทำงานหรือเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุและผู้สูงอายุสำรอง ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
.
ประโยชน์ของงานวิจัยและการตอบโจทย์สังคม
.
รศ.ดร.รัตติยา กล่าวว่า งานวิจัยนี้สามารถสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาแนวทางสร้างความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้สูงอายุสำรองและผู้สูงอายุ สร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเน้นการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างเศรษฐกิจสมานฉันท์ ทั้งนี้ สามารถนำเอาโมเดลการบริหารนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเน้นการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างเศรษฐกิจสมานฉันท์ไปขยายผลและประยุกต์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ได้ นอกจากนี้ งานวิจัยยังให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุและผู้สูงอายุสำรองผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
.
.
ผลงานวิจัยนี้ตอบโจทย์สังคมในหลากหลายด้าน ดังนี้
.
ช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ที่สามารถเข้าถึง เข้าใจ และ รู้วิธีใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในกลุ่มผู้สูงอายุสำรองและผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในการรับรู้ต่อผู้สูงอายุให้ได้รับการยอมรับและมีส่วนร่วมมากขึ้น นำไปสู่การสร้างความเข้าใจระหว่างรุ่นมากขึ้น
ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์ และส่งเสริมความยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจจากชุมชน ส่งเสริมให้มีช่องทางในการหารายได้ในกลุ่มผู้สูงอายุ ให้มีช่องทางในการเปลี่ยนมาทำงานหรือธุรกิจบนดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้การพึ่งพาทางการเงินลดลง
คุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้น เนื่องจากการมีส่วนร่วมทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ผลประโยชน์ทางสังคม เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่ลดลง ชีวิตในชุมชนที่มีชีวิตชีวามากขึ้น ระดับความสุขและความพึงพอใจโดยรวมที่สูงขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้สูงอายุมีความโดดเดี่ยวน้อยลง และมีช่องทางหารายได้มากขึ้น
.
“งานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงมหาดไทย รวมทั้ง หน่วยงานชุมชน และภาคประชาสังคม และที่สำคัญ คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ในการดำเนินนโยบายส่งเสริมความอยู่ดี มีสุข และรายได้ของประชาชนในภาพรวม” รศ.ดร.รัตติยา กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

ทุนธนาคารกรุงเทพ ระดับปริญญาโท สำหรับพนักงานละบุคคลภายนอก จำนวน 25 ทุน ศึกษาต่อสถาบันการศึกษาต่างประเทศและในประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) ประจำปี 2567 ยื่นใบสมัครขอรับทุนได้ถึง 16 เม.ย. 67

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!