สจล. จับมือ ยามาฮ่า คอร์ปอเรชั่น ผู้นำอุตสาหกรรมดนตรีของโลก เสริมแกร่งหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม 

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ดนตรี เป็น ‘ซอฟท์พาวเวอร์’ อันทรงพลัง ขณะที่ สื่อดิจิทัลคอนเทนต์ต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ และเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำโดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี และ ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน คณบดี วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต ผนึกความร่วมมือกับ บริษัท ยามาฮ่า คอร์ปอเรชั่น แห่งญี่ปุ่น ผู้นำอุตสาหกรรมดนตรีของโลก และ สยามดนตรียามาฮ่า ณ เมืองฮามามัตสึ เพื่อแลกเปลี่ยนและต่อยอดงานวิจัยศิลปะและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมดนตรี ผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงป้อนวงการดนตรีและดิจิทัลมีเดีย เสริมความแข็งแกร่งหลักสูตรดนตรีและสื่อประสมให้ก้าวหน้า สนับสนุนพลังซอฟท์พาวเวอร์ของไทย

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี และ ผส.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมดนตรีในตลาดโลกมีการพัฒนาควบคู่ไปกับดิจิทัลมีเดีย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมดนตรีเติบโตอย่างรวดเร็ว ในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีศิลปินโด่งดังระดับโลก เช่น ลิซ่า – ลลิษา มโนบาล แบล็คพิ้งค์ บีทีเอส สร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศ และมูลค่าทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมาอย่างมหาศาล โดยใช้อุตสาหกรรมดนตรีเป็นตัวนำทาง และแผ่ขยายไปยังนานาประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2561 นับเป็นแห่งแรกในอาเซียนที่ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมดนตรีที่เชี่ยวชาญทั้งศาสตร์และศิลป์ รองรับยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดย เปิดหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และ หลักสูตรระยะสั้น ซึ่งความร่วมมือระหว่าง สจล. กับ สยามดนตรียามาฮ่า และ ยามาฮ่า คอร์ปอเรชั่น นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความร่วมมือพัฒนาความก้าวหน้าของหลักสูตรดนตรีใหม่ ๆ และงานวิจัยในประเทศไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น การบ่มเพาะบุคลากรสมรรถนะสูงทางด้านวิศวกรรมดนตรีและสื่อดิจิทัลเทคโนโลยี จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์งานดนตรี สื่อและคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้อย่างมีสีสัน ตอบสนองความหลากหลายของการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมพลังให้ ‘ซอฟท์พาวเวอร์’ ของไทย ด้านดนตรี ภาพยนตร์ เฟสติวัล กีฬาการต่อสู้ และ ขับเคลื่อนไทยให้เป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและนวัตกรรมทางด้านบันเทิงแห่งอาเซียน”

ด้าน ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน คณบดี วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต แบ่งเป็น Acoustic Engineering และ Sound Engineering มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะความสามารถและความเชี่ยวชาญในการบูรณาการองค์ความรู้ อาทิ วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมการประมวลผลสัญญาณ วิศวกรรมอคูสติกส์ เข้ากับองค์ความรู้ทางด้านศิลป์ สาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยีดนตรี บุกเบิกมิติใหม่ในแวดวงการศึกษาทางด้านวิศวกรรมดนตรีของประเทศ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านดนตรี สื่อดนตรี อุตสาหกรรมเกม อีเว้นท์ สื่อทางวิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น เข้าใจในมุมมองของศิลปะทางด้านดนตรี และมีทักษะในทางปฏิบัติ สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของหลักการทางวิศวกรรม กับ เทคโนโลยีดนตรี ได้เป็นอย่างดี โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ห้องปฏิบัติการ และ เครื่องมือที่ครบครันทันสมัย

ผู้จบการศึกษาจะสามารถทำงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมดนตรี , ภาพยนตร์ , โฆษณา , เกม และ แอนิเมชัน , วิทยุโทรทัศน์ , อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดนตรี , วิศวกรรมเสียงสำหรับอาคาร , วิศวกรรมความปลอดภัยทางเสียงและ โสตทัศนูปกรณ์ทางการแพทย์ , อุตสาหกรรมยานยนต์ และ อื่น ๆ ผู้สนใจสมัครเรียนที่วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต ดูรายละเอียดเพิ่มเเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://imse.kmitl.ac.th/th/ โทร. 02-329-8197 หรือ เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/imsekmitl/?locale=th_TH

และในโอกาสที่ นักวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษา ของ วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้ไปเยือนโรงงานผลิตเครื่องดนตรี และอุปกรณ์ระบบเสียงของยามาฮ่า ที่เมืองฮามามัตสึ ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด และ มร.กาซุนาริ ซูซูกิ (Kazunari Suzuki) กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ได้ประสานงานกับ ยามาฮ่า คอร์ปอเรชั่น ที่ญี่ปุ่น ณ เมืองฮามามัตซึ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดนตรีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นำนักวิจัย และนักศึกษา สจล. ศึกษาดูงานและเปิดมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มการพัฒนาเครื่องดนตรี เครื่องเสียง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไลน์การผลิตที่ก้าวหน้าทันสมัยของ ยามาฮ่า ผู้นำอุตสาหกรรมดนตรีและระบบเสียงในตลาดโลก ซึ่งมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งมายาวนาน ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1887 โดดเด่นในงานวิจัยคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรม ตั้งแต่ เครื่องดนตรีอิเลคโทน เปียโน คีย์บอร์ด ดนตรีคอมโบ้ ซินธิไซเซอร์ เครื่องเป่าทองเหลือง ระบบเครื่องเสียงในบ้าน ระบบเครื่องเสียงสำหรับงานสาธารณะ อีกทั้งได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีโลกแห่งแรกและแห่งเดียวในญี่ปุ่น Hamamatsu Museum of Musical Instruments “เมืองแห่งการสร้างสรรค์ดนตรี” อนุรักษ์มรดกทางดนตรีที่มีคุณค่าจากทั่วทุกมุมโลก

นอกจากนี้ วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้ากับสองมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยโตไก (Tokai University) เยี่ยมห้องปฏิบัติการวิจัย Acoustic Lab & Virtual Reality Lab และ มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งโตเกียว (Tokyo University of the Arts) ซึ่งมี Immersive Sound Lab ที่ทันสมัย พร้อมพบปะและฟังบรรยายสรุปของนักศึกษาไทย จาก วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต ชั้นปี4 ที่เดินทางไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น (Oversea Training) เป็นเวลา 1 เทอมการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง เพื่อนำประสบการณ์ความรู้มาพัฒนาดนตรีในประเทศไทยอีกด้วย

RANDOM

ราชมงคลพระนคร รับสมัครคัดเลือกบุคคล ตำแหน่ง “อาจารย์” คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน และ ตำแหน่ง “นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ” เทคโนโลยีดิจิทัลทางการศึกษา และบริการห้องปฏิบัติการ

error: Content is protected !!