จุฬาฯ ผนึกกำลัง 3 มหาวิทยาลัยในภูมิภาค ร่วม “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย แพลตฟอร์มวิจัยเครือข่าย” มุ่งเน้นแก้ปัญหาสังคมเป็นหลัก โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา และ มหาวิทยาลัยนเรศวร สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัย เสริมสร้างความแข็งแกร่งของงานวิจัยให้ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ จัดงาน “ประชุมวิชาการ : พลิกโฉมมหาวิทยาลัย แพลตฟอร์มวิจัยเครือข่าย” เมื่อวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน ที่ผ่านมา

ภายในงานมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ภาพรวมโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” โดย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. การเสวนา “Bangsaen 80th Anniversary: Creative City and Municipality” การเสวนา “University-Urban Design and Development” และ การเสวนา “Creative Tourism เส้นทางท่องเที่ยวยอด – ภูลังกา” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาฯ ประธานเปิดการประชุม กล่าวว่า จุฬาฯ ต้องการเปิดพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงนักวิจัยจุฬาฯ กับ 3 มหาวิทยาลัยในภูมิภาค ที่มีจุดสนใจเหมือนกันมารวมตัวกัน โดยงานวิจัยจะเน้นทางด้านการแก้ปัญหาสังคมเป็นหลัก โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการด้วย

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชื่อมประสานแพลตฟอร์มวิจัยเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 4 มหาวิทยาลัย เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมร่วมกัน จนกระทั่งสามารถรวมกันเป็นเครือข่ายที่มีแนวทางการดำเนินงานชัดเจน นำร่องรูปแบบของแพลตฟอร์มวิจัยที่สามารถขยายได้ ทั้งกลุ่มนักวิจัยร่วมในประเทศและต่างประเทศ เป้าหมายของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาคน และคนไปพัฒนาพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากหลากหลายมุมมองที่แตกต่าง และมีความเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนให้นำความรู้มาใช้ร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ คน และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล” ศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นโอกาสในการพัฒนาโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ตามภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “Bridging Communities” และ “Advancing Knowledge” หลังจากการสำรวจข้อมูลภาคสนามเพื่อศึกษาสถานการณ์ และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการวิจัยร่วมนั้น ปัจจุบันมีโครงการนำร่องจาก 3 ภูมิภาค ดังนี้

ภาคตะวันออก : มหาวิทยาลัยบูรพา
• “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon Tourism) ส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างจิตสำนึก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในจังหวัดชลบุรี
• “สังคมสูงวัย” พัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยในชุมชนเมือง โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะใช้องค์ความรู้จากโครงการวิจัย “จุฬาอารี” และ “ไทยอารี” ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศ
• “บางแสนสร้างสรรค์ : เติมสีสันให้เมืองมีชีวิตด้วยศิลปะ” การพัฒนากระตุ้นเศรษฐกิจแบบ “Soft power” ด้วยเทศกาล โดยมีต้นแบบจากเทศกาล “สามย่านละลานใจ” ซึ่งใช้ศิลปะการละครเป็นสื่อ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
ภาคเหนือ : มหาวิทยาลัยพะเยา
• “การสร้างคุณค่าร่วมกันเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์พื้นที่ยอด-ภูลังกา” เชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่ระหว่างจังหวัดพะเยา และจังหวัดน่าน ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวมูลค่าสูง (High Value Tourism)
ภาคเหนือตอนล่าง : มหาวิทยาลัยนเรศวร
• “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองมหาวิทยาลัย กรณีศึกษาเมืองพิษณุโลก” ภายใต้แนวคิดการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อเมือง และเมืองเพื่อมหาวิทยาลัย ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองมหาวิทยาลัยในอนาคต

นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือในโครงการนี้ ยังมีความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ National University of Singapore สาธารณรัฐสิงคโปร์ และ Kyushu University ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

ด้าน ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การร่วมงานกันของ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยบูรพา และ มหาวิทยาลัยนเรศวร รู้สึกเกินความคาดหมาย และภาคภูมิใจ เพราะตอนแรกที่คิดไว้ มหาวิทยาลัยพะเยา จะร่วมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ยอด-ภูลังกา (น่าน-พะเยา) เส้นทางราว 50-60 กิโลเมตร แต่เมื่อมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันมากขึ้น ทำให้เกิดการขยายเส้นทางท่องเที่ยวไปยังพิษณุโลก กรุงเทพฯ และ ชลบุรี การทำงานร่วมกันระหว่าง 4 มหาวิทยาลัย ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยเครือข่ายมีจุดแข็งต่างกัน เมื่อมารวมตัวกันก็ยิ่งทำให้งานวิจัยแข็งแกร่ง ในอนาคตสามารถนำชุมชนแต่ละจังหวัดมาพบกัน และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้อีกทางหนึ่ง

ทางด้าน ศ.ดร.จิตติมา เจริญพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยบูรพา มีความร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยด้านงานวิจัย สร้างเครือข่ายวิจัยระดับท้องถิ่นสู่เครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติ และส่งเสริมให้นักวิจัยระดับนานาชาติร่วมพัฒนางานวิจัยในระดับท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายให้เกิดผลกระทางสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านแผนการดำเนินงาน 3 Platform ได้แก่ Health Aging, Carbon Neutrality และ Performing Art โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยว สร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัยในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

ขณะที่ ศ.ภญ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มต้นด้วยการวิจัยเรื่อง University-Urban Design and Development หรือ เมืองมหาวิทยาลัย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเริ่มต้นความร่วมมือในครั้งนี้จะขยายผลไปยังการวิจัยในประเด็นอื่น ๆ โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นพันธมิตรด้านการวิจัยที่จะร่วมกันในการเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการผลักดันการวิจัยด้วยการพัฒนาศักยภาพของชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยให้มีผลกระทบสูงต่อสังคม เพิ่มขีดความสามารถทางการวิจัย และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และภูมิภาคต่อไป

RANDOM

ม.รังสิต เชิญชวนน้อง ๆ ม.ปลาย ปวช. ปวส. สมัครร่วมกิจกรรม “Hospitality Camp กับ วิทยาลัยฮอสปิตอลลิตี้ ม.รังสิต” เปิดโลกธุรกิจบริการ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมรับประกาศนียบัตรหลังจบงาน

กกท.ใจกว้างเปิดเวทีให้ระบาย เจอสวดยับ ‘ปีนี้แย่ที่สุด’ ส่วนกองทุนโดนด้วย เจอฝาก “ให้รู้หน้าที่” ตัวเองหน่อย ทาง “ก้องศักด” ออกรับแก้ไม่ได้ก็ไม่ทนอยู่ ทั้งที่เรียนรู้งานมาแล้ว 4 ปี…เอ้าสู้ๆโว้ยวงการกีฬาไทย

NEWS

error: Content is protected !!