กกท.ใจกว้างเปิดเวทีให้ระบาย เจอสวดยับ ‘ปีนี้แย่ที่สุด’ ส่วนกองทุนโดนด้วย เจอฝาก “ให้รู้หน้าที่” ตัวเองหน่อย ทาง “ก้องศักด” ออกรับแก้ไม่ได้ก็ไม่ทนอยู่ ทั้งที่เรียนรู้งานมาแล้ว 4 ปี…เอ้าสู้ๆโว้ยวงการกีฬาไทย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ที่โรงแรมแกรนด์ โฟร์วิง คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นประธานการประชุมสรุปผลการดำเนินงานประจำปี 2565 และแผนดำเนินการประจำปี 2566 ตามยุทธศาสตร์สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีผู้บริหารของ กกท. ผู้บริหารในวงการกีฬาไทย ตลอดจนผู้แทนสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด เข้าร่วมเพื่อฟังแนวทางและเป็นการรับฟังปัญหาที่ผ่านมา และซักซ้อมการเดินหน้าในแผนงานกีฬา ที่ กกท.ได้กำหนดไว้

จากการเปิดงานและบรรยายแนวทางแล้ว ในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากสมาคมกีฬาต่างๆ ได้อภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของพัฒนากีฬา ตลอดจนเสนอแนวทางการแก้ไข เพื่อที่ กกท. จะได้นำไปดำเนินการ โดยที่น่าสนใจในการอภิปรายนั้นอาทิ

“เสธ.ยอด” พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย ในฐานะประธานสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ หรือ ฟอนซ่า ได้แสดงความคิดเห็นว่า ทุกสมาคมตอนนี้แย่กันหมาด ก็ไม่รู้ว่าทาง กกท.จะมีการแก้ปัญหานี้อย่างไร ปีนี้เป็นปีที่ทุกสมาคมสาหัสมาก เพราะผู้เกี่ยวข้องไม่มีการดำเนินงานตามกฏเกณฑ์ที่แน่ชัด ขาดความโปร่งใสชัดเจน จนไม่รู้ว่าจะเดาทางว่าจะไปทางไหนได้ ก็อยากที่จะฝากทาง กกท.ให้เร่งแก้ไขด่วน

ดร.วิจิตร สิทธินาวิน นายกสมาคมกีฬาไตรกีฬา และกรรมการบริหาร คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ปัจจุบันนี้งบประมาณด้านการกีฬามีมากขึ้น แต่กลับค้างจ่ายเป็นจำนวนมาก ในปีนี้ถือว่าสาหัสมากที่สุด จากการบริหารจัดการของกองทุนพัฒนากีฬาการกีฬาแห่งชาติ ที่สับสนวุ่นวายและขัดต่อแผนแม่บท คือพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทยที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะโครงสร้างที่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ดูเหมือนจะมีอำนาจเหนือกว่าและเป็นอิสระจาก กกท. ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้จัดการกองทุนฯ ควรจะอยู่ในฐานะเทียบเท่าผู้อำนวยการกอง และต้องอยู่ภายใต้รองผู้ว่าการ ฝ่ายบริหาร กกท. ที่มี ผู้ว่าการ กกท. เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด จึงจะเป็นโครงสร้างที่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาเกิดความเข้าใจผิดในด้านอำนาจหน้าที่

ด้าน ผศ. พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนทำงานตรงนี้มา 20 ปี ไม่เคยเจอปัญหาในการเบิกจ่ายงบประมาณแบบนี้มาก่อน ตนมองว่านี่คือยุคมืดของวงการกีฬา และมันเป็นเรื่องคับใจของสมาคมกีฬาต่างๆ อย่างมาก ตอนนี้ภาครัฐเป็นหนี้สมาคมกีฬาเทควันโดฯ อยู่ 13 ล้านบาท ซึ่งไม่เคยเป็นขนาดนี้มาก่อน ตนกำลังจะกระเป๋าฉีก แล้วสมาคมกีฬาที่เล็กกว่าสมาคมกีฬาเทควันโดฯ จะเป็นอย่างไร ก็ลองคิดดูก็แล้วกัน นี่เป็นปัญหาของทุกคน ภาครัฐอยากให้เราเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา อยากให้เราคว้าเหรียญมามากๆ แต่แค่งบประมาณซื้ออาหารเสริมให้นักกีฬาไม่กี่หมื่นบาท เวลานี้ยังเบิกจ่ายไม่ได้เลย สมาคมฯ เอง ตอนนี้ก็ไม่มีงบส่งนักกีฬาได้ตามจำนวนที่ต้องการ โดยเฉพาะนักกีฬาเยาวชนที่สมาคมฯ จะพัฒนาเพื่อก้าวขึ้นมาทดแทนนักกีฬาเก่าๆที่ร่วงโรยได้อย่างไร ตนเองไม่รู้หรอกว่า กกท. หรือ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จะมีปัญหากันภายในกันอย่างไร แต่ตนมองไปที่ผู้ว่าการ กกท. จะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้อย่างไรต่อไปมากกว่า

และนายธรรมวัฒน์ วงศ์เจริญยศ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาของสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด คือการเบิกเงินได้ยากลำบากมาก โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2565 เจ้าหน้าที่ ไม่สามารถเข้าใจขั้นตอนการเบิกจ่ายได้เลย โดยเฉพะงบประมาณ 300 ล้านบาท ที่ได้เสนอไปแล้ว ขณะนี้เบิกจ่ายไปได้แค่ 15 ล้านบาท เท่านั้น โดยการจัดการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์ประเทศไทย ที่จังหวัดต่างๆ จะเป็นเจ้าภาพนั้น ไม่มีจังหวัดไหนอยากจะจัดแล้ว เพราะกลัวว่าจัดแข่งขันไปแล้ว จะไม่ได้เงิน อยากให้ ผู้ว่าการ กกท. พิจารณา เรื่องกระบวนการจ่ายงบประมาณตรงนี้ รวมทั้งอยากให้จัดทำคู่มือการเบิกจ่ายให้พวกเราได้ดำเนินการอย่างเข้าใจและถูกต้อง จะได้ไมเกิดปัญหาเช่นนี้อีกต่อไป

หลังจากรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะที่หลากหลายนั้น ทางด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.ได้กล่าวว่า แม้ตนจะได้ต่อสัญญาเป็นผู้ว่าการ กกท. อีก 4 ปี แต่ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ก็อยู่ไม่ครบวาระ 4 ปีข้างหน้าแน่นอน ตรงนี้ผู้จัดการกองทุนฯ ก็มองเห็นถึงปัญหานี้ และพร้อมจะรับฟังข้อมูลไปปรับปรุงและหาทางออกร่วมกัน เพื่อปลดล็อกปัญหาเหล่านี้ ถ้าตนแก้ปัญหาไม่ได้จะลาออกเอง ไม่ต้องไล่เพราะไม่สามารถช่วยให้วงการกีฬาของไทยให้เติบโตได้ “ผู้ว่าก้อง” ย้ำ

#ดูคลิป ดร.วิจิตร สิทธินาวิน นายกสมาคมกีฬาไตรกีฬาและนักกฏหมายระบุอำนาจหน้าที่และบทบาทของผู้ว่าการกับ ผจก.กองทุนที่นี่

RANDOM

สมาคมสถาปนิกสยามฯ ชวนสถาปนิก นักออกแบบ และนักเรียน นักศึกษา ร่วมประกวด “ASA Experimental Design Competition” ชิงเงินรางวัลรวม 280,000 บาท ผลงานชนะเลิศจะได้จัดแสดงในงานสถาปนิก 2566 หมดเขตรับสมัคร 1 เม.ย. นี้

error: Content is protected !!