นันทนาการภายหลังโควิด19

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

 

การระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คือ รูปแบบของกิจกรรมนันทนาการที่หลายกิจกรรมถูกยกเลิกการจัดไป ไม่สามารถจัดได้ และหลายกิจกรรมถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการจัดออนไลน์ รวมทั้งกิจกรรมที่จัดแบบกลุ่มก็ถูกปรับเป็นแบบกลุ่มที่เล็กลง หรือบางกิจกรรมใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาทดแทนการพบกันแบบเผชิญหน้า (Face to Face)

แม้รูปแบบการจัดกิจกรรมนันทนาการแบบใหม่นี้ จะสามารถทดแทนได้บ้าง แต่จะทำให้คุณค่าของกิจกรรมนันทนาการนั้นๆ ลดลงไปอย่างน่าเสียดาย เช่น ด้านสุขภาพกาย มนุษย์ยังคงต้องการการเคลื่อนไหว  การขาดกิจกรรมทางกายเป็นเวลานานๆ ส่งผลให้ระบบกล้ามเนื้อไม่พัฒนา เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Disease, NCD) ต่างๆ ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 พบว่า ประชากรทั่วโลกมีกิจกรรมทางกายลดลง โดยเฉพาะในประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 19.1 (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิยาลัยมหิดล, 2563) ดังนั้น กิจกรรมทางกาย (Physical Activity, PA) ที่คนได้เคลื่อนไหวเต็มที่ทั้งในร่มและกลางแจ้งยังคงมีความจำเป็นสำหรับคนทุกวัย

ด้านสุขภาพจิต ในช่วงยากลำบากนี้ คนยิ่งจำเป็นต้องมีกิจกรรมนันทนาการเพื่อบรรเทาความเครียดและสร้างแรงบันดาลใจ แต่ด้วยความเสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดมาตรการที่ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวได้ ทำให้คนต้องเผชิญกับปัญหาความกังวล หวาดกลัวทั้งเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง (Chronic Stress) อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรค NCD ต่างๆ ซึ่งอันที่จริงแล้วในภาวะเช่นนี้ กิจกรรมนันทนาการที่ทำเพื่อความบันเทิง รื่นเริง ยังคงต้องมีเพื่อปรับสมดุลของอารมณ์ และสร้างพลังในการดำรงชีวิตในแต่ละวันให้กับประชาชน

ด้านสุขภาพสังคม กิจกรรมนันทนาการหลายกิจกรรมถูกปรับให้จัดเป็นออนไลน์ หรือจัดในรูปแบบกลุ่มเล็กๆ ทำให้โอกาสในการเข้าสังคมลดลงอย่างมาก ซึ่งอันที่จริงมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมยังคงจำเป็นต่อการปรับตัว เรียนรู้กฎของสังคมที่เหมาะสมของเด็กและก่อให้เกิดความสุขไม่เงียบเหงาเบื่อหน่ายกับชีวิตในแต่ละวันของผู้สูงอายุ ดังนั้น กิจกรรมทางสังคมจึงมีความจำเป็นต่อมนุษย์อันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การปรับมาใช้เทคโนโลยีออนไลน์ทดแทนนั้นก็ไม่สามารถทำให้เกิดคุณค่าที่เหมือนกันได้ และสุดท้ายการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการที่ก่อให้เกิดการพัฒนาสุขภาพทั้งสามด้านที่กล่าวมาแล้วจะช่วยพัฒนา สุขภาพจิตวิญญาณ ตามมา ทำให้เกิดการเห็นคุณค่ากับการมีชีวิตอยู่ รักเพื่อนมนุษย์ เกิดความมั่นใจความภาคภูมิใจในตนเอง ลดปัญหาการฆ่าตัวตาย เกิดสังคมที่มีคุณภาพตามมา

ดังนั้น แม้ว่าเชื้อไวรัสนี้จะกลายพันธุ์และอยู่กับเราไปอีกแสนนานหรืออาจมีโรคระบาดอื่นๆ เข้ามาอีกในอนาคตแต่กิจกรรมนันทนาการที่จัดในรูปแบบที่หลากหลายทั้งแบบดั้งเดิมและNew Normal ให้คนได้มีความสุขได้พบปะกันยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่สามารถจะระงับได้เป็นระยะเวลานานๆ ทั้งนี้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องหาวิธีให้คนในประเทศได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติให้เร็วที่สุดและปลอดภัยที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดความเจ็บป่วยของประชาชนที่อาจเกิดตามมาจากการขาดกิจกรรมนันทนาการหลังจากหมดช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อไป

 

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!