ศธ.หนุนจัดการศึกษานอกระบบบุคคลออทิสติก เสริมการเรียนรู้ พึ่งพาตนเองได้ในอนาคต

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าเยี่ยมชมกิจกรรม โครงการจัดการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยสำหรับบุคคลออทิสติก และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยมี นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) นายปราโมทย์ ธรรมสโรช อุปนายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) พร้อมด้วยครูและบุคลากรผู้สอนฯ ให้การต้อนรับ ที่ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เปิดเผยว่า การจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษาพิเศษ ให้กับบุคคลออทิสติกจะเกิดผลได้นั้น ต้องมาจากความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงบุคลากรครูผู้สอนที่จะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีกำลังใจในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเจตนารมณ์บันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนารูปแบบการศึกษานอกระบบสำหรับบุคคลออทิสติก บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และทางสติปัญญา เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นพึ่งพาตนเองได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

ด้าน นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ประชาชนทั่วไปสละเวลาเปิดใจรับ และทำความเข้าใจว่าเด็กออทิสติก (Autistic Child) คืออะไร เด็กออทิสติก คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านการสื่อสาร ภาษา และด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น ภาวะอาการออทิสติก เกิดได้กับเด็กทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม และทุกสภาพครอบครัว ส่วนสาเหตุที่แน่นอนยังไม่สามารถอธิบายได้ แต่ทางการแพทย์เชื่อว่า ภาวะอาการออทิสติก อาจเกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติจากการผสมผสานการรับรู้ความรู้สึก และการเคลื่อนไหว จึงทำให้มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ

เด็กออทิสติกแต่ละคน จะมีความแตกต่างกันตามระดับความรุนแรงของอาการที่แสดงออก และมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน แนวทางการเลือกวิธีการสอนจึงย่อมแตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กออทิสติกแต่ละคน ซึ่งครูต้องเลือกวิธีการสอนที่เหมาะสม และส่งเสริมให้เด็กออทิสติกเรียนรู้ และสามารถเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงได้ ซึ่งวิธีการสอนตรง (Direct Instruction) เป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง โดยวิธีการสอน จะเน้นกิจกรรมที่ชัดเจนเป็นการฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ โดยเรียงลำดับขั้นตอน การสอนตามความยากง่ายอย่างเป็นระบบ และมีครูคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ซึ่งครูจะคอยให้คำแนะนำแก้ไข เมื่อนักเรียนทำไม่ถูกต้อง และพร้อมให้กำลังใจทันที เมื่อนักเรียนปฏิบัติได้ถูกต้อง

ทั้งนี้ ได้แบ่งระดับความต้องการ การได้รับการช่วยเหลือของบุคคลออทิสติก เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

TIER 1 : บุคคลที่มีภาวะออทิสซึม มีทักษะการสื่อสารและทักษะสังคมในระดับสื่อสารได้ แต่ยังต้องการได้รับการสนับสนุนบ้างเล็กน้อย
TIER 2 : บุคคลที่มีภาวะออทิสซึม มีข้อจำกัดในการใช้ภาษาและท่าทางเพื่อการสื่อสารระดับหนึ่ง และยังคงต้องการการสนับสนุนอย่างปานกลาง
TIER 3 : บุคคลที่มีภาวะออทิสซึม ที่มีข้อจำกัดในด้านภาษาและการสื่อสารพฤติกรรม ทักษะการช่วยเหลือตนเอง รวมทั้งทักษะด้านต่าง ๆ และยังต้องการการสนับสนุนอย่างมาก

 

RANDOM

NEWS

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับทุนวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ (รอบที่ 3) ประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งข้อเสนอโครงการได้ ตั้งแต่บัดนี้–31 พ.ค. 67

error: Content is protected !!