วธ. เดินหน้าดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ชู “ไอติมศรีเทพ” ต้นแบบโมเดลธุรกิจ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้สู่ชุมชน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

วธ. เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล – THACCA ผลักดัน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ สู่เศรษฐกิจวัฒนธรรม ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ด้านผู้แทนสำนักงบฯ แนะส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พัฒนาต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม ชู “ไอติมศรีเทพ” โมเดลต่อยอดภูมิปัญญา สร้างรายได้สู่ชุมชน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เป็นประธานประชุมมอบนโยบายการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหารทุกหน่วยงาน สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และ นายอนันต์ แก้วกำเนิด รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และคณะ เข้าร่วมที่กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน สังกัด วธ. ทบทวนจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล (Thailand Creative Content Agency -THACCA) ในการพัฒนาต่อยอด 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ ผลักดัน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ รวมทั้งนโยบายวัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจ สืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติ และขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ สร้างเสน่ห์วิถีไทยครองใจคนทั้งโลก เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ

ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วธ. มีโครงการสำคัญต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อน โดยเฉพาะ โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา โครงการพัฒนา “เมืองโบราณศรีเทพ”อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปีนี้ โดยจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ห้องน้ำ ร้านอาหาร และร้านค้าของที่ระลึก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ผู้แทนสำนักงบประมาณมีข้อแนะนำต่อการจัดทำโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล THACCA และ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ยกตัวอย่าง การส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ และชุมชน เช่น โครงการสุดยอดชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชนยลวิถี ซึ่งแต่ละปีจะคัดเลือก 10 ชุมชน ขณะนี้ มีทั้งหมด 20 ชุมชน การฟื้นฟูโครงการ 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ และงานเทศกาลประเพณี เพื่อยกระดับสู่นานาชาติ 16 เทศกาล โดยในปี 2567 จะคัดเลือกเพิ่มอีก 16 เทศกาล งานประเพณีลอยกระทง และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ โดยบูรณาการการดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กับ กระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ เครือข่ายทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ อีกทั้งนำองค์ความรู้ด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมาสร้างผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เช่น ไอศกรีมศรีเทพ และสนับสนุนให้ประชาชนในชุมชนผลิตและมีร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมโดยชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งการนำนวัตกรรมและไอทีมาใช้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

นายเสริมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ ผู้แทนสำนักงบประมาณเสนอแนะให้หน่วยงานต่าง ๆ ของวธ.จัดทำตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ และมูลค่าที่เกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในมิติทางสังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ซึ่ง วธ. จะนำข้อเสนอแนะของผู้แทนสำนักงบประมาณ มาประกอบการพิจารณาในการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของ วธ. ต่อไป

RANDOM

error: Content is protected !!