“โมเดลแก้จน” ไอเดียนักวิจัย ม.ทักษิณ ช่วยชาวพัทลุงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ทั้งยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน อีกทั้งความยากจนทำให้คนบางส่วนเข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการ หรือ บางคนกลายเป็นคนไร้ตัวตนในสังคม กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงเดินหน้าขับเคลื่อนดำเนินโครงการโมเดลแก้จน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน

อ.ดร.ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมด้วยคณะ กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์โครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในจังหวัดพัทลุง ว่า ข้อมูลคนจนเป้าหมายในจังหวัดพัทลุง จาก TPMAP มีจำนวน 14,342 คน โดยใน 3 อำเภอ ที่มีคนจนเป้าหมายสูงสุด คือ อำเภอปากพะยูน 20.1%, เมืองพัทลุง 19.9% และควนขนุน 16.2% โดยโครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในจังหวัดพัทลุง มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบค้นหาและสอบทานเพื่อช่วยเหลือคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ (Personalize Poverty Alleviation) ร่วมกับ รวบรวมข้อมูลคนจนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับระบบความช่วยเหลือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในจังหวัดพัทลุง อีกทั้งพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนจากการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต รวมทั้งวิเคราะห์รูปแบบของปัญหาคนจนกลุ่มเป้าหมายและนำไปสู่การสร้างโมเดลความช่วยเหลืออย่างเบ็ดเสร็จ แม่นยำและยั่งยืน นอกจากนี้ ยังพัฒนาโมเดลการจัดการกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มทักษะการดำรงชีวิตเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในคนจนกลุ่มเป้าหมายของจังหวัดพัทลุง และเพื่อสังเคราะห์ภาพรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเชื่อมโยงกับแผนจังหวัดพัทลุง เพื่อนำเข้าสู่การขับเคลื่อนเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ของจังหวัดพัทลุง

สำหรับวิธีการดำเนินงานวิจัยนั้น ได้สร้างกลไกความร่วมมือเพื่อค้นหาสอบทานข้อมูล ใน 2 ด้าน คือ ด้านแรก สอบทานความสอดคล้องของข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ด้านที่สอง สอบทานมิติความยากจนของคนจนรายบุคคล และสำรวจทุนคนจนและครัวเรือนระดับพื้นที่ และ Verify กลุ่มเป้าหมายคนจนเป้าหมายจากฐานข้อมูล TPMAP โดยใช้กลไกการดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบลของจังหวัดพัทลุง โดยผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดพัทลุง (ศจพ.จ.)

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ออกแบบกระบวนการสร้างกลไกความร่วมมือในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด และมีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างหน่วยงานจังหวัดพัทลุง เพื่อขับเคลื่อนการทำงานแก้ไขปัญหาความยากจน นอกจากนี้ได้มีการสร้างกลไกค้นหา และสอบทานข้อมูลครอบครัวยากจนในระดับพื้นที่ โดยประสานความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

อ.ดร.ทิพย์ทิวา กล่าวต่อว่า หลังจากได้ข้อมูลจากการสำรวจ จะนำข้อมูลคนจนจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่จังหวัดพัทลุง จากกระบวนผสานข้อมูล มาทำการวิเคราะห์ตามกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การทำความสะอาดข้อมูล (Data Cleaning) การสำรวจข้อมูล (Data Exploration) การค้นหาความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ของข้อมูล (Association Rule) การสร้างแบบจำลองการจำแนกประเภท (Classification Model) รวมถึงการจัดกลุ่มข้อมูล (Data Clustering) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ กลุ่มข้อมูลคนจนเป้าหมายที่ได้จากการจำแนกโดยระบบคอมพิวเตอร์ และคณะวิจัยจะทำการทานสอบ โดยใช้การสำรวจโดยกลไกการลงพื้นที่จริงอีกครั้ง พร้อมส่งต่อความช่วยเหลืออย่างไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน

โดยระหว่างการดำเนินการนี้ ทีมนักวิจัยได้ส่งต่อความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย ให้แก่ 1) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคใต้ ไปแล้วจำนวน 269 ครัวเรือน ครอบคลุม 27 ตำบลใน 9 อำเภอ 2) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุง ประกอบด้วย ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่จำนวน 6,970 ครัวเรือน และครัวเรือนที่มีผู้ป่วยติดเตียงหรือพิการจำนวน 2,358 ครัวเรือน สำหรับผู้ป่วยติดเตียงหรือพิการส่งต่อข้อมูลความช่วยเหลือให้แก่ 3) ระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดพัทลุง จำนวน 1,101 ครัวเรือน

ทั้งนี้ ในอนาคตจะปรับปรุงข้อมูลข้อมูลครัวเรือนที่มีฐานะยากจนให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ พร้อมส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องไปยังจังหวัด เพื่อกำหนดเป็นนโยบายให้กับผู้นำชุมชนในการวางแผนการช่วยเหลือครัวเรือนที่ยากจนอย่างตรงจุด

RANDOM

สํานักงานประกันสังคม ชวนเยาวชนโชว์ไอเดียสร้างสรรค์ ประกวดคลิปวิดีโอ ในหัวข้อ “เจ็บป่วยประกันสังคมช่วยดูแล” และ หัวข้อ “อุ่นใจวัยเกษียณ” ชิงทุนการศึกษารวม 230,000 บาท รับสมัครถึง 31 พ.ค. 66

NEWS

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับทุนวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ (รอบที่ 3) ประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งข้อเสนอโครงการได้ ตั้งแต่บัดนี้–31 พ.ค. 67

error: Content is protected !!