คณะท่องเที่ยวฯ มธบ. พา นศ.สัมผัสการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก เทรนด์การเรียนรู้นอกห้องเรียนยุคโควิค

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นางสาวพรทิพย์ บุญเที่ยงธรรม อาจารย์ประจำสาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อกลไกการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวให้ลดน้อยลง แต่หากมองในมุมของสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ธรรมชาติจะได้ฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากถูกการท่องเที่ยวรบกวนมาเป็นระยะเวลานาน และจากสาเหตุดังกล่าว ส่งผลให้พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป โดยการเริ่มมองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ห่างไกลผู้คน แต่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ สถานที่ที่ได้รับความสนุกสนานกับกิจกรรมการท่องเที่ยว แต่สัมผัสได้ถึงความปลอดภัย หรือสถานที่ที่ได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติ ละเมียดละไมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม แต่ได้มีโอกาสทำประโยชน์กลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมและสังคม

Low Carbon Tourism หรือ การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่ผสมผสานแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีใจความสำคัญที่ว่า “เที่ยวอย่างไรจึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุด” หากพิจารณาแล้วจะพบว่า ทุกย่างก้าวของการออกเดินทางท่องเที่ยว ล้วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ ดังนั้น จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำจึงเกิดขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการการท่องเที่ยวที่ช่วยลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน โดยพยายามออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เกิดความตระหนักรู้และใส่ใจในสิ่งแวดล้อมได้ไปพร้อม ๆ กัน

อาจารย์พรทิพย์ กล่าวต่อว่า จากเทรนด์การท่องเที่ยวกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ จึงได้หยิบยก “ชุมชนท่องเที่ยวบ้านถ้ำเสือ” อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นจุดหมายปลายทางในการศึกษานอกสถานที่สำหรับนักศึกษาในภาคเรียนนี้ โดยมีโจทย์สำคัญ คือ “ทำอย่างไรที่จะทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบรักษ์โลกอย่างแท้จริง และปลอดภัยจากโควิด” ดังนั้น การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำของชุมชนบ้านถ้ำเสือ จึงเป็นสถานที่ที่ถูกเลือก เพราะมีความน่าสนใจทั้งในด้านแนวคิดของการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และในมุมของการบริหารจัดการตัวเอง ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยชุมชนมีการปรับตัวเอง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแบบเป็นกลุ่ม หรือเป็นหมู่คณะ ได้อย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน

ปัจจุบัน บ้านถ้ำเสือ เป็นชุมชนที่ได้รับการยกระดับ และเพิ่มมูลค่าให้เป็นชุมชนต้นแบบวัฒนธรรมการท่องเที่ยวแห่งแรกของไทย ซึ่งมีรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พร้อม ๆ กับการพัฒนาตนเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นให้คนในชุมชนได้มีโอกาสกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนตามสภาพปัญหาของพื้นที่ และความต้องการของชุมชนโดยแท้จริง

นอกจากนี้ คนในชุมชนยังร่วมกันกำหนดแนวคิดของการพัฒนาและการอนุรักษ์พื้นที่ป่า สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมชุมชน และพยายามขับเคลื่อนตนเองสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน (Zero Carbon) ผ่านกระบวนการออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ต้อง “ใช้สมองคิด ใจดู และสองมือทำ” พร้อมที่จะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างมั่นใจ โดยเริ่มต้นด้วยการดับเครื่องยนต์แล้วเดินเท้าเข้าสู่บ้านถ้ำเสือ พร้อมเปิดประสาทการมองเห็นธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยแมกไม้ สัมผัสอากาศที่เย็นสบายตลอดเส้นทาง ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดทางธรรมชาติที่แสดงให้เห็นว่า เรากำลังเข้าใกล้แหล่งธรรมชาติอย่างแท้จริง และสิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวจะได้ลิ้มลอง คือ น้ำดอกอัญชันมะนาว ที่เสิร์ฟมาในแก้วน้ำที่มีเอกลักษณ์ ถูกตกแต่งโดยวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น ที่สำคัญ คือ มั่นใจได้ 100% ว่าปลอดสารพิษ เพราะชาวบ้านปลูกกันเองแบบอินทรีย์ ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่ได้มาจะได้สัมผัสและดื่มด่ำความสดชื่นท่ามกลางวิวของแม่น้ำเพชรบุรีที่ใสสะอาด ก่อนที่ ประธานธนาคารต้นไม้จะมาบรรยายให้ความรู้ถึงที่มาที่ไปของบ้านถ้ำเสือ และนำเข้าสู่กิจกรรมสร้างสรรค์แบบคาร์บอนต่ำที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม อาทิ

– การปั้นลูกกระสุนเมล็ดพันธุ์ กุศโลบายเชิงวิถีตามบริบทของพื้นที่ในการปลูกป่าชุมชน โดยการยิงเป็นกระสุนเมล็ดพันธุ์เข้าไปในป่าแล้วปล่อยให้ธรรมชาติฟูมฟักตัวเองจนกลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์

– การทำไข่เค็มสมุนไพรใบเตย และทองม้วนน้ำตาลโตนด ที่หาวัตถุดิบสดใหม่ได้จากในพื้นที่ ทั้งที่เพาะปลูกกันเองแบบปลอดสารพิษ และวัตถุดิบจากชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง

– การทำอาหารท้องถิ่น ที่มีชื่อเก๋ไก๋ว่า “ยำถ้ำเสือ” หรือ ยำผักกูด ซึ่งเป็นผักท้องถิ่นขึ้นชื่อที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นผักที่เติบโตริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ที่มีความหวานและความกรุบกรอบไม่เหมือนใคร อีกทั้ง ชุมชนยังให้นักท่องเที่ยวได้ลองลงมือทำยำผักกูดด้วยตัวเอง โดยใช้ถ่านไม้ปลอดสารพิษเป็นเชื้อเพลิง เป็นถ่านที่ผ่านการเผาไหม้ให้บริสุทธิ์แบบอิวาเตะ จึงไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง

ปิดท้ายด้วย ชุดอาหารแบบปิ่นโต ที่ชุมชนจัดแยกมาเป็นชุด ๆ แบบของใครของมัน ซึ่งไม่ใช่แค่แนวคิดของการออกแบบให้มีอัตลักษณ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการแทรกความรู้เรื่องการควบคุมปริมาณอาหารให้พอดีกับคนทาน และการจัดการอาหารไม่ให้เหลือทิ้งเป็นของเสีย (Food Waste Management) รวมทั้ง ยังปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในพื้นที่อีกด้วย เห็นได้ชัดว่า นี่คือการแก้โจทย์ที่ผ่านกระบวนการคิดอย่างมีชั้นเชิงโดยคนในชุมชน ในฐานะผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่มีวิถีรักษ์โลกที่สามารถทำให้สิ่งที่จับต้องได้ยาก กลายมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่าย โดยการออกแบบชุดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

 

RANDOM

NEWS

“ครูมวยไทย” เนื้อหอม เตรียมเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมส่งเสริมกีฬามวยไทย ที่ซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง 7-9 พ.ค.นี้ หลังได้ใบประกาศนียบัตร ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!