แพทย์ จุฬาฯ แนะ กินคีโตอย่างเข้าใจ ลดน้ำหนักได้ สุขภาพดี

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

จากที่ Station Thai ได้นำเสนอเรื่องราว กระแสการกินแบบคีโตที่กำลังได้รับความนิยมไปก่อนหน้านี้แล้ว ใน “สถานีความคิด” มาในครั้งนี้ “สถานีการศึกษา” จะมาให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการกินแบบคีโต เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังมองหน้าวิธีการกินเพื่อสุขภาพที่ดี และลดน้ำหนักอย่างได้ผลไปในคราวเดียวกัน

การลดน้ำหนักไม่ใช่เรื่องของการดูแลรูปร่างและความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการรักษาโรคและดูแลสุขภาพด้วย ทั้งนี้ แนวทางการบริโภคเพื่อลดน้ำหนักในปัจจุบันมีหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะเน้นการกินอาหารจำพวกผัก ปลา และเลี่ยงการบริโภคไขมัน แต่ก็มีวิธีการลดน้ำหนักอีกแบบ ที่เรียกว่า “การกินคีโต” ที่สวนกระแส ยกให้ “ไขมัน” เป็นตัวเอกในทุกมื้ออาหาร

“หัวใจหลักของการกินคีโต คือ การลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสุขภาพและการรักษาโรค เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานบางชนิด ที่ต้องการให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำหนัก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกินคีโตอย่างถูกวิธี ได้ผลดีทั้งน้ำหนักตัวและสุขภาพ

การกินคีโตคืออะไร
คีโต มาจากคำว่า “คีโตเจนิก ไดเอต” (Ketogenic diet) คือ การลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล และให้น้ำหนักกับการบริโภค “ไขมัน” และโปรตีน

ผศ.(พิเศษ)พญ.พัชญา อธิบายหลักการลดน้ำหนักด้วยการกินคีโตว่า “อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตอย่างพวกแป้ง ข้าว จะถูกย่อยให้กลายเป็นน้ำตาลเพื่อเป็นพลังงานหลักของร่างกาย แต่เมื่อเราลดการทานคาร์โบไฮเดรตลง ร่างกายจะหันไปเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้แทน กลายเป็น “สารคีโตนบอดี้ส์ (Ketone Bodies)” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ คีโต นั่นเอง”

กินคีโตอย่างไร ลดน้ำหนักได้ผล
การกินเพื่อลดน้ำหนักแบบคีโตเน้นการกินอาหารจำพวกไขมันและโปรตีนเป็นหลัก และลดสัดส่วนการกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น อาหารจำพวกแป้ง ข้าว และน้ำตาล ให้เหลือเพียง 5% หรือแค่ 20-50 กรัมต่อวัน หรือแทบจะไม่มีอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในมื้ออาหารเลย เพื่อให้เกิดภาวะคีโตซิส (Ketosis) หรือ ภาวะที่ร่างกายนำพลังงานจากไขมันในร่างกายมาใช้เป็นแหล่งพลังงานหลัก
ผศ.(พิเศษ) พญ.พัชญา กล่าวว่า การกินอาหารประเภทไขมันและโปรตีน มีส่วนทำให้รู้สึกอิ่มนาน และสารคีโตนบอดี้ส์ยังช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้เกิดการจำกัดปริมาณแคลอรี่ที่รับประทาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดน้ำหนักตัว

ไขมันตัวดีของแนวคีโตมีอะไรบ้าง
ผศ.(พิเศษ) พญ.พัชญา กล่าวว่า แม้หลักการของการกินคีโตจะเน้นการบริโภคไขมัน แต่ก็ไม่ใช่ไขมันทุกประเภทจะดีเสมอไป “ถึงแม้ชาวคีโตจะเน้นกินไขมัน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการกินของมัน ของทอด หรือเบคอน ที่อุดมไปด้วยไขมันในปริมาณมาก ๆ การกินคีโตควรเลือกไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย” ผศ.(พิเศษ) พญ.พัชญา กล่าวเตือน

โดยไขมันในอาหาร แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว หรือ ไขมันดี ส่วนใหญ่พบในพืชผักและปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาทะเล แซลมอน อโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน ถั่วเหลือง น้ำมันงา เป็นต้น

อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว คือ มีทั้งไขมันดีและไขมันเลว ส่วนใหญ่พบได้ในเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมและพืชบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ น้ำมันหมู ไก่ โยเกิร์ต เนย ชีส กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

ไขมันทั้ง 2 ประเภท มีประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมากเกินไป จะส่งผลเสียมากกว่า เพราะอาจพบระดับไขมันในเลือดผิดปกติ เสี่ยงต่อการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด หลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ เป็นต้น

นอกจากการเลือกประเภทไขมันในการบริโภคให้ถูกต้องและสมดุลแล้ว ชาวคีโตก็ต้องระวังและเลี่ยงการกินผักและผลไม้ที่มีแป้งและน้ำตาลสูง และการปรุงรสอาหารด้วยน้ำตาล ไม่เช่นนั้นร่างกายจะไม่เกิดภาวะคีโตซิส (Ketosis) และไม่เกิดผลต่อการลดน้ำหนัก ซ้ำยังอาจจะช่วยเพิ่มน้ำหนักและไขมันอีกด้วย

ผลข้างเคียงจากการกินคีโต
การกินคีโตเพื่อลดน้ำหนักรักษาสุขภาพ ไม่ใช่จะเหมาะสำหรับทุกคน หากเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว ไม่ใช่สตรีตั้งครรภ์ สามารถลองทานคีโตได้ แต่หากผู้ที่มีโรคประจำตัวแต่สนใจการลดน้ำหนักแบบคีโต แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เนื่องจากโรคประจำตัวบางอย่าง และยารักษาโรคบางชนิดอาจทำให้เกิดอันตรายได้ถ้าทานอาหารสูตรคีโต

การกินคีโตเป็นแนวทางการกินที่มีความเฉพาะเจาะจง ลดสารอาหารบางประเภท และไม่หลากหลาย ซึ่งหากไม่ใส่ใจให้ดี ก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่าง เช่น

ไข้คีโต (Keto Flu) : เมื่อร่างกายเกิดภาวะคีโตซิส อาจทำให้รู้สึกเหมือนเป็นไข้ ไม่สบายตัว ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หรืออ่อนเพลีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปเอง หากรู้สึกเป็นนานกว่า 2 สัปดาห์ แนะนำให้พบแพทย์
การขาดสารอาหาร : การกินคีโตต้องลดปริมาณอาหารบางประเภท จึงอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารสำคัญบางชนิดไม่เพียงพอ เช่น กากใย วิตามิน เป็นต้น อาจเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
ท้องผูก ขาดน้ำ และแร่ธาตุ : ร่างกายจะขับสารคีโตนบอดี้ส์ออกทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดน้ำและแร่ธาตุ และการรับประทานคาร์โบไฮเดรตปริมาณต่ำมาก ทำให้ร่างกายได้รับกากใยไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก
กระหายน้ำบ่อย : เป็นอาการที่พบบ่อย เกิดจากการที่ร่างกายขับน้ำ ทำให้ผู้ที่กินอาหารแบบคีโตรู้สึกกระหายน้ำ จึงต้องคอยจิบน้ำเสมอ ๆ
อาการสมองล้า : อาการสมองล้า ความจำสั้น และไม่ค่อยมีสมาธิ แต่พบได้ไม่บ่อย
ผิวมันเป็นสิว : การกินไขมันบางชนิดมาก ๆ ทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนัง อาจก่อให้เกิดสิวได้
โยโย่แอฟเฟค เมื่อหยุดกินคีโต : การกินคีโตสามารถทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังไม่รู้สึก “โหย” เหมือนกับการลดน้ำหนักแบบอื่น ๆ แต่เมื่อหยุดกินคีโตแล้วกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม หรือรับประทานอาหารที่ไม่ใช่การกินคีโตเต็มรูปแบบ น้ำหนักตัวก็อาจกลับขึ้นมาอย่างเดิม อย่างที่เรียกว่า “โยโย่เอฟเฟค”

การกินคีโตเป็นแนวทางการลดน้ำหนักที่เห็นผลเร็ว แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงดังกล่าว ยังไม่มีข้อมูลของผลกระทบต่อสุขภาพในการกินคีโตในระยะยาวที่ชัดเจน ดังนั้น เมื่อลดน้ำหนักได้ตามที่พอใจแล้ว เราควรหันมาใส่ใจดูแลการบริโภคอาหารที่หลากหลายและสมดุล เพื่อผลดีของสุขภาพในระยะยาว

“การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควบคุมปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกาย ย่อมเป็นการลดน้ำหนักที่อาจจะได้ผลช้ากว่า แต่ส่งผลดีในระยะยาวแน่นอน” ผศ.(พิเศษ)พญ.พัชญา กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!