อว. โชว์ศักยภาพ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” พร้อมก้าวสู่ความเป็นเลิศ ยกระดับมหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับ TOP ของโลก

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โชว์ศักยภาพความก้าวหน้าของโครงการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” (Reinventing University) เตรียมพร้อมสู่การปฏิรูปเต็มรูปแบบในปี 2567 กุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษา เพื่อให้ “มหาวิทยาลัย” มีศักยภาพในการผลิตบัณฑิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องและเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในปี 2564 – 2566 โดยได้ดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ 5 กลุ่ม มีสถาบันอุดมศึกษาได้รับการคัดเลือก 61 แห่ง รวม 126 โครงการ

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา (Reinventing University) เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาให้สามารถจัดการศึกษา วิจัย และผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ตามศักยภาพและความถนัด เพื่อเป็นหัวจักรในการพัฒนาประเทศนำไปสู่ความยั่งยืน ส่งเสริมการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากล และสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยตามสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญของแต่ละสถาบัน เพื่อขยับอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Ranking) ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น โดยใช้กลไกการจัดสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลุ่ม เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาในแต่ละกลุ่ม สามารถสร้างความเป็นเลิศตามความเชี่ยวชาญ ซึ่งทาง อว. จะส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งประสิทธิผลในการสร้างความเข้มแข็งทางการศึกษาของประเทศ มุ่งไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งใช้เป็นฐานในการพัฒนาประเทศ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับภาพรวมการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายในการเชิญนักวิจัยระดับโลกมาทำงานร่วมกับนักวิจัยไทย เกิดผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงระดับโลกเพิ่มขึ้น (กลุ่มที่ 1) มีแพลตฟอร์มที่เพิ่มศักยภาพเร่งการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (Business Acceleration Platform) หรือ นวัตกรรมจากงานวิจัยไปสู่การไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (กลุ่มที่ 2 และ กลุ่มที่ 1) และเกิดเครือข่ายการสร้างบัณฑิตและผู้ประกอบการร่วมกัน ผ่านศูนย์อัจฉริยะในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5 แห่งในภาคใต้ โดยการใช้ทรัพยากรร่วมกันข้ามมหาวิทยาลัย ในการจัดทำหลักสูตร degree & upskill (กลุ่มที่ 3)

โดยมหาวิทยาลัยไทยมีสาขาวิชาที่ติดอันดับโลก เพิ่มขึ้น 45 สาขา จาก 64 สาขา ในปี 2020 และเพิ่มขึ้นเป็น 101 สาขา ในปี 2023 มีสาขาที่เด่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 57 ในสาขาเกษตรและป่าไม้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 51-100 ในสาขาปิโตรเลียม มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 99 ในสาขาเภสัชศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยไทยยังมีนักวิจัยที่ได้รับการยกย่องเป็น Top 2% ของโลก โดย Stanford University เพิ่มขึ้น 190 คน จาก 40 คน ในปี 2017 และเพิ่มขึ้นเป็น 230 คน ในปี 2023 ส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยในกลุ่มที่ 1 รวมถึงมหาวิทยาลัยไทยได้รับการจัดอันดับโลกใน THE Impact Ranking ที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) จำนวนมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย กลุ่มที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นถึง 27 แห่ง จาก 4 แห่ง ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 31 แห่ง ในปี 2566 โดยมีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้สังกัดกลุ่ม ประจำปีงบประมาณ 2565 – 2566 จำนวน 104 แห่ง ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก มี 17 แห่ง กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มี 19 แห่ง กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น หรือ ชุมชนอื่น 48 แห่ง กลุ่มที่ 4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา มี 2 แห่ง และ กลุ่มที่ 5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ มี 18 แห่ง

ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัด อว. กล่าวถึงแผนระยะต่อไปของโครงการฯ คือ สนับสนุนกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาขับเคลื่อน BCG โดยใช้กลไกของสถาบันอุดมศึกษาไทยไปสู่ระดับ Top ของโลก การสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศ ด้วยการแลกเปลี่ยน Visiting Professor เน้นการทำงานวิจัย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่มาตรฐานในระดับนานาชาติ อันจะนำไปสู่การยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล สามารถขยับอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Ranking) ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สถาบันในระดับอุดมศึกษาจะต้องถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจให้กับบุคลากร เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีฐานมูลค่าและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง

ความสำเร็จของโครงการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” (Reinventing University) ที่สร้างผลงานที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญ โดย กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำเรื่องการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขั้นสูงของกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้านเกษตรและป่าไม้ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำโครงการ Visiting Professor สาขา Biologics และ Drug Discovery มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำเรื่อง PM 2.5 and other Pollutants Related NCDs from Field-to-Cell-to-Bedside (FCB) มหาวิทยาลัยศิลปากร ขับเคลื่อนบูรณาการศาสตร์และศิลป์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำเรื่องการใช้องค์ความรู้แนวหน้าด้านจุลินทรีย์ต่อการ ผลิตพืช ผลิตสัตว์ อาหาร และสารชีวภาพ เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง เปิดให้มีการลงทะเบียนเรียนข้ามหาวิทยาลัย พร้อมทำเรื่องระบบธนาคารหน่วยกิต เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงระบบการเรียนการสอนง่ายขึ้นกว่าเดิม นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาส่งเสริมให้ระบบได้รับการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกิดหลักสูตรการพัฒนากำลังคนและผลักดันให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศทางด้านวิชาการเกษตร มทร.อีสาน และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำความเป็นอีสานและเหนือร่วมกันพัฒนาข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ พัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นถิ่น รวมถึงกัญชง กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น หรือ ชุมชนอื่น มรภ.มหา สารคาม จัดตั้ง “หมู่บ้านราชภัฏ” ได้กว่า 17 ชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง เป็นต้น ส่วนกลุ่ม 4 และ กลุ่ม 5 อยู่ระหว่างติดตามผลการดำเนินงาน

RANDOM

NEWS

error: Content is protected !!