ไทยโคเซ็น แฟร์ 2023 แหล่งผลิต “วิศวกรพันธุ์ใหม่” ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สำนักงานโครงการสถาบันไทยโคเซ็น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN-KMITL) และ สถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN KMUTT) ร่วมกันจัดงาน Thai KOSEN Fair 2023 เพื่อเผยแพร่ระบบการศึกษา KOSEN และหลักสูตรที่รองรับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ รวมทั้งการแสดงผลงานจากการประกวดระดับนานาชาติของนักศึกษา การอภิปรายมุมมองของการพัฒนาความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาและอุตสาหกรรม การจัดนิทรรศการของภาคอุตสาหกรรมเต็มพื้นที่ การแนะแนวการศึกษาต่อในสถาบันไทยโคเซ็น และ สถาบันโคเซ็นที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องภิรัชฮอลล์ 1 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยมีสัดส่วนการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นอยู่ในอันดับสูงสุด จึงได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการนำระบบการศึกษารูปแบบ KOSEN เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความพร้อมทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะขั้นสูง สร้างความมั่นใจในการพิจารณาเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมระดับสูง ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับความไว้วางใจจากประเทศญี่ปุ่น ในการนำระบบการศึกษาหลักสูตร KOSEN ที่สมบูรณ์แบบที่มีคุณภาพมาตรฐานเทียบเท่าสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านระบบการประเมินคุณภาพมาตรฐาน (KOSEN International Standards : KIS) ที่จะมีผลบังคับใช้กับ สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. และ สถาบันโคเซ็นแห่ง มจธ. ในการรับรองคุณภาพมาตรฐานให้เทียบเท่าสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น ในปีการศึกษา 2568 เมื่อมีผู้สำเร็จการศึกษาและเข้าสู่สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

“อยากให้สังคมไทยเข้าใจหลักสูตรโคเซ็น และรับรู้ถึงการเป็น “วิศวกรพันธุ์ใหม่” ที่เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไปอย่างสร้างสรรค์ ด้วยทักษะการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นผู้นำ และคิดแก้ปัญหา สามารถสร้างหุ่นยนต์ หรือ สร้างระบบเชิงวิศวกรรมออกมาเพื่อนำไปใช้งานได้อย่างแท้จริง ภายใต้การสนับสนุนของภาคอุตสาหกรรมระหว่างการศึกษา สามารถไปสร้างผลงานจนได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาแล้ว ทั้งจากองค์กรระหว่างประเทศ การแข่งขันหุ่นยนต์ประดิษฐ์ที่ญี่ปุ่น นักศึกษาไทยโคเซ็นมีความโดดเด่น ทฤษฎีแม่น ปฏิบัติจริง มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นจากการเรียนในชั้นเรียน ทำให้มีทั้งทักษะด้านภาษาที่ดี และพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่แก่ภาคอุตสาหกรรม”

ในช่วง 10 ปีแรกของโครงการ ได้กำหนดเป้าการผลิตวิศวกรจากหลักสูตร 5 ปี จำนวน 1,080 คน โดยนักเรียนทุนรุ่นแรกที่จะสำเร็จการศึกษาจากสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. ในปีการศึกษา 2567 จำนวน 24 คน และที่มีนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น หลักสูตร 7 ปี ในระดับปริญญาตรี จำนวน 72 ทุน ครบทุกชั้นปีในปีการศึกษาหน้า ในขณะที่ สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. และ สถาบันโคเซ็นแห่ง มจธ. จะเริ่มจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง (Advanced Course) เพื่อรองรับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 5 เข้าศึกษาต่อ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนต่อ และทำงานในสถานประกอบการไปพร้อม ๆ กัน รวมทั้งนักศึกษามีโอกาสได้ไปฝึกอบรม และไปทำวิจัยที่สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในสถาบันไทยโคเซ็นด้วย

โดย หลักสูตรไทยโคเซ็น ที่เปิดสอนที่สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN-KMILT) ประกอบด้วย หลักสูตร Mechatronics Engineering, Computer Engineering และ Electrical and Electronics Engineering ขณะที่ สถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN KMUTT) จัดการเรียนการสอน หลักสูตร Automation Engineering, Biological Engineering และ Agricultural Engineering มีเป้าหมายเพื่อผลิตวิศวกรสำหรับภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของประเทศได้ โดยใช้เวลาเรียนสั้นลง สามารถออกแบบสร้างสรรค์ชิ้นงาน ลงมือทำเป็น ทำงานได้เร็วขึ้น และทำงานได้จริง สำหรับเส้นทางการพัฒนาทางวิชาการและวิชาชีพนั้น หลังจากเรียนสำเร็จหลักสูตร 5 ปีแล้ว ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หรือ ระดับที่สูง ขึ้น สถาบันไทยโคเซ็นทั้งสองแห่งได้ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรรองรับในลักษณะที่สอดคล้องกับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานเพื่อชดใช้ทุนการศึกษา และขยายเงื่อนไขทุนการศึกษาให้สามารถปฏิบัติงานได้หลังสำเร็จการศึกษา

การจัดงานไทยโคเซ็น แฟร์ 2023 ในครั้งนี้ มีภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากสนใจเข้าร่วมงาน และให้ความร่วมมือในการรับนักศึกษาสถาบันไทยโคเซ็นไปฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ และตอบรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาเข้าทำงาน เป็นการรวมพลังจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริม สร้างความมั่นคงแก่หลักสูตรและผู้สำเร็จการศึกษา ให้เป็นวิศวกรสายพันธุ์ใหม่ที่มีความพร้อมตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และยังได้มีการแสดงเจตจำนงที่จะทำความร่วมมือในการจัดการศึกษา การฝึกประสบการณ์วิชาชีพและการรับเข้าทำงานหลังนักศึกษาสำเร็จการศึกษากว่า 30 แห่ง

RANDOM

งานดีที่ไม่ควรพลาด สพสท เตรียมจัดประชุมวิชาการแห่งชาติ ครั้งใหญ่ ที่กาญจนบุรี 9-11 สิงหาคม 2566 นี้ มีกิจกรรม และการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงของเมืองไทย เรียนเชิญชวนผู้สนใจติดต่อร่วมงานด่วน

NEWS

สอศ. ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิด ‘ห้องปฏิบัติการภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลก’ ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนุนสร้างแรงงานคุณภาพสมรรถนะสูง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน

กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนนักออกแบบ ผู้ประกอบการ สมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2567 ‘Design Excellence Award 2024’ (DEmark) จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์ อย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 3 มิถุนายน 2567

error: Content is protected !!