นิเทศ จุฬาฯ ผนึกกำลัง กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย เดินหน้าจัดโครงการ “ลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล” ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ด้านศิลปวัฒนธรรม

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 84 ปีของวงการเพลงลูกทุ่งไทย และต่อยอดผสมผสานการเรียนรู้จากอดีตสู่ปัจจุบัน ยกระดับเพลงลูกทุ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญในอนาคต 
.
.
รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจัดโครงการ จาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจําปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมลูกทุ่งไทย ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และถ่ายทอดเรื่องราวของไทยผ่านยุคสมัย นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันลงในบทเพลงต่าง ๆ ที่ขับร้องโดยนักร้องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของคนไทยตลอดมา โครงการนี้จะทบทวนและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งไทย และจัดเก็บอย่างเป็นระบบ โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มุ่งผสานการมีส่วนร่วมของภาคส่วนสําคัญ ๆ ของวงการเพลงลูกทุ่ง โดยจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเฉลิมฉลองวาระที่ดนตรีลูกทุ่งได้ถือกําเนิดขึ้นในประเทศไทยครบ 84 ปี
.
.
ด้าน ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ทางคณะนิเทศศาสตร์มีภารกิจที่สำคัญทางด้านการศึกษา วิชาการ และงานวิจัยต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งทางคณะให้ความสำคัญมาโดยตลอด คณะนิเทศศาสตร์มีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการนี้มากว่าหนึ่งปีแล้ว โครงการนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกในทุกองค์ประกอบของการสร้างสรรค์เพลงลูกทุ่ง ไม่ว่าจะเป็นครูเพลง นักร้อง นักดนตรี  หางเครื่อง ห้องบันทึกเสียง ผู้จัดจำหน่าย และอีกหลาย ๆ ภาคส่วน ที่ทำให้เกิดเป็นเพลงลูกทุ่งไทย เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยนวัตกรรมด้านวัฒนธรรมที่ต่อยอดเพลงลุกทุ่งไทยก้าวสู่วงการดนตรีในระดับสากล เป็น Soft Power ของประเทศไทยที่มีพลังและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้เป็นมูลค่ามหาศาล
.
.
ผศ.ดร.สุกัญญา กล่าวต่อว่า กิจกรรมที่จะจัดขึ้นในโครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ประกอบด้วย การจัดเสวนาลูกทุ่งไทย 4 ภาค ซึ่งจะจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และ กรุงเทพมหานคร ที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง การจัดการประกวดหางเครื่อง โดยจะรับสมัครน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาส่งทีมเข้าร่วมประกวด โดยจัดควบคู่ไปกับการเสวนาย่อยที่จะมุ่งถอดบทเรียนและจัดการองค์ความรู้ที่ได้รับจากศิลปินลูกทุ่งของแต่ละภาค การผลิตสารคดีสั้น ร้อยรสความทรงจำวัฒนธรรมลูกทุ่งไทย ความยาว 5 นาที 24 ตอน เพื่อรวบรวมองคาพยพของลูกทุ่งไทย ไม่ว่าจะเป็นนักแต่งเพลง นักร้อง นักดนตรี หางเครื่อง โฆษก ตลก ห้างแผ่นเสียง ชุมชน ตำบล ที่เคยเป็นของลูกทุ่ง ซึ่งเราพยายามรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ การจัดทำหนังสือ ร้อยรสความทรงจำ 84 ปี ลูกทุ่งไทย  ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเพื่อหาความรู้ได้อย่างไม่จำกัด และ การจัดแสดงคอนเสิร์ต 84 ปี ลูกทุ่งไทย ซึ่งจะจัดขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
.
“กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นการเฉลิมฉลอง 84 ปีลูกทุ่งไทยอย่างยิ่งใหญ่ เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ และสุนทรียะวัฒนธรรมลูกทุ่งอย่างรอบด้าน และเป็นการสร้างปรากฏการณ์ให้เห็นว่า เพลงลูกทุ่งไทยเป็นศิลปะที่มีรากเหง้า มีการเติบโต มีพัฒนาการและมีความร่วมสมัยคู่ไปกับคนไทย สังคมไทยและสังคมโลก รวมถึงเป็นวัฒนธรรมบันเทิงที่ทุกคนสามารถสัมผัสและจับต้องได้” ผศ.ดร.สุกัญญา กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

NEWS

error: Content is protected !!