โดนลูกหลงจากเพื่อนบ้าน เรียกค่าเสียหายได้ไหม?

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ใครที่มีเพื่อนบ้านดี นับได้ว่าโชคดีสุด ๆ แต่ถ้าโชคร้ายมีเพื่อนบ้านนิสัยแย่ ๆ ก็ต้องระวังตัวเองให้ดี วันดีคืนดี อาจเจอลูกหลงจากเพื่อนบ้านได้ แล้วอย่างนี้เราจะเรียกร้องค่าเสียหายได้ไหม Station Thai มีคำตอบให้ครับ

คำถาม : “ วันดีคืนดีเพื่อนบ้านที่รู้จักทะเลาะกัน ดันปาของมาโดนแขนเราเจ็บซะงั้น ประเด็น คือ เราไม่รู้ว่าเขาหรือแฟนของเขาเป็นคนปามาโดนเรา งงก็งง เจ็บก็เจ็บ แบบนี้จะไปเรียกค่าเสียหายจากเขาได้ไหม”

คำตอบ : คือ “ได้” ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับเจ้าของที่พักหรือผู้เช่าอาศัยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 436 “บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดจากของตกหล่นจากโรงเรือน หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันไม่ควร”

ความผิดตามมาตรานี้ มีเหตุแห่งความเสียหายอยู่ 2 ส่วน

1. เกิดจากของตกหล่นจากโรงเรือน

2. เกิดจากการทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร

ซึ่งเป็นความรับผิดของผู้อยู่ในโรงเรือน ในกรณีที่ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้เสียหายย่อมเรียกร้องให้มารับผิดตามกฎหมายมาตรา 420 ไม่ได้ แต่สามารถฟ้องร้อง “ผู้อยู่ในโรงเรือน” ตามมาตรา 436 ได้

ผู้อยู่ในโรงเรือน คือใคร

ผู้ที่อยู่ในฐานะดูแล หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว ไม่รวมถึงบุคคลทุกคนที่อยู่ในโรงเรือน และไม่ได้หมายถึงเจ้าของโรงเรือนด้วย ยกเว้นเจ้าของจะเป็นผู้อยู่ในโรงเรือน คนที่เป็นผู้อาศัย คนใช้ หรือแขกที่มาเยี่ยมเยือน หรือมาอาศัยชั่วคราวไม่ใช่ผู้อยู่ในโรงเรือนตามมาตรานี้ แต่ถ้ามีผู้เช่าแยกเป็นสัดส่วนไปแล้ว เจ้าของไม่ต้องรับผิด ผู้เช่าเป็นผู้รับผิดตามมาตรา 436 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1689/2518)

ตัวอย่างเช่น

ประสิทธิ์ จัดงานเลี้ยงฉลองปริญญาที่บ้านของตัวเอง โดยเชิญเพื่อน ๆ มาในงานเป็นจำนวนมาก ขณะดื่มสุรากันอยู่บนระเบียงบ้าน สุเทพ เพื่อนที่ประสิทธิ์เชิญมาในงาน เกิดเมาสุราได้ปาขวดเบียร์ไปโดนหัวของ ดำ ซึ่งกำลังเดินอยู่ที่ถนนได้รับบาดเจ็บ ขณะเดียวกัน สมศรี เพื่อนของประสิทธิ์ที่มาช่วยทำอาหารให้ในงาน ได้เทน้ำร้อนในหม้อทิ้งข้ามรั้วบ้านของประสิทธิ์เข้าไปในที่ดินของคนอื่นที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่ง ประสิทธิ์เองใช้เป็นที่ทิ้งเศษอาหารอยู่เป็นประจำ เผอิญมีสุนัขมาหาเศษอาหารกินบริเวณนั้น จึงถูกน้ำร้อนที่สมศรีเทข้ามมา ลวกตามตัวได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น ดำ และ เจ้าของสุนัข จะฟ้องใครให้รับผิดชอบในทางละเมิดได้บ้าง

คำตอบ

ดำ ฟ้อง สุเทพ ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ได้ เพราะ สุเทพกระทำโดยจงใจให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายต่อร่างกาย ย่อมเป็นการละเมิดและต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีนี้ ประสิทธิ์ เจ้าของบ้านไม่ต้องรับผิดในกรณีทิ้งขว้างหรือสิ่งของตกหล่น ตาม มาตรา 436 เพราะกรณีเช่นนี้ความเสียหายเกิดจากการกระทำโดยจงใจของสุเทพ ซึ่งต้องรับผิดโดยหลักทั่วไปอยู่แล้ว

สมศรี ไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของสุนัขที่ได้รับบาดเจ็บ เพราะสมศรีได้ทิ้งขว้างสิ่งของไปโดยปกติวิสัย มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน การทิ้งขว้างของสมศรีก็ไม่ต้องรับผิดตาม มาตรา 436 เพราะถือว่าเป็นการทิ้งขว้างไปตกในที่อันสมควร กรณีเช่นนี้ ประสิทธิ์ในฐานะเจ้าของบ้านเป็นผู้อยู่ในโรงเรือน ก็ไม่ต้องรับผิดตาม มาตรา 436 เช่นเดียวกัน

ข้อสังเกต : กรณีความผิดเกิดจากการทิ้งขว้างของไปตกในที่อันไม่ควร

1. “ของ” ที่ทิ้งขว้างจะเป็นอะไรก็ได้ และต้องทิ้งขว้างมาจาก “โรงเรือน” เท่านั้น หากทิ้งขว้างจากสิ่งอื่น เช่น รถยนต์ เรือ จะไม่อยู่ในบังคับมาตรา 436

2. การ “ทิ้งขว้าง” คือ การกระทำของบุคคลที่ตั้งใจทิ้งขว้าง จะทิ้งขว้างไปตกที่ใดก็ได้ แต่ไปตกในที่อันไม่ควร หากเป็นการอันควรทิ้งขว้างได้ เช่น กองขยะ หรือถังขยะ ก็ไม่อยู่ในบังคับมาตรานี้

3. ผู้อยู่ในโรงเรือนที่จะต้องรับผิด คือ ในกรณีที่มีการทำของตกหล่นหรือทิ้งขว้าง ซึ่งหมายถึง การที่หาตัวผู้ทำความผิดไม่ได้ จึงให้ผู้อยู่ในโรงเรือนรับผิด โดยอาจจะเป็นผู้ทำเอง หรือไม่ได้ทำก็ได้ แต่ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว บุคคลนั้นต้องรับผิดตามกฎหมายละเมิดมาตรา 420 ไม่ต้องวินิจฉัยมาตรา 436

อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณฺชย์ มาตรา 436

ขอบคุณข้อมูล จาก สำนักงานกิจการยุติธรรม

RANDOM

error: Content is protected !!