เครือข่ายงดเหล้า สสส. หนุนกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ขยายผลงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ชู จ. แม่ฮ่องสอน ต้นแบบความสำเร็จ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สสส. ร่วมกับ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเวทีแลกเปลี่ยนนโยบายสาธารณะชาติพันธุ์ ด้านงานบุญประเพณีเทศกาล และการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน จาก 20 ชาติพันธุ์ 27 กลุ่มพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานงดเหล้าและส่งเสริมสุขภาวะในกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีบริบท มีการออกแบบกิจกรรมและความสำเร็จที่แตกต่างกัน พร้อมกันนี้ ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อยกระดับเป็น “สมาพันธุ์เครือข่ายชาติพันธุ์สร้างสุข งดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยง” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปธรรม โดยมี นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ณ โรงแรมอิมพีเรียล อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 8 ของประเทศไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 9 ชาติพันธุ์ 13 กลุ่ม โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธ์มากที่สุด การที่ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ มีประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นการระดมสมองในการจะทำอย่างไรให้ประเพณีอันดีงาม ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ นำไปสู่การจัดกิจกรรมที่เหมาะสมของชนเผ่าต่าง ๆ ให้สามารถลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างจริงจัง ทางจังหวัดมีความยินดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงาน สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2554 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอัตราการดื่ม ติด 10 อันดับแรกของประเทศ ทำให้ สคล.เข้าดำเนินงานรณรงค์งดเหล้าในชุมชน งานบุญประเพณี และเทศกาลต่าง ๆ เมื่อปี 2560 อยู่ในอันดับที่ 37 และ ปี 2564 อยู่ในอันดับที่ 39 ซึ่งลดลงตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ของภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ช่วยกันขับเคลื่อนงาน ทำให้มีพื้นที่ต้นแบบหลายพื้นที่ อาทิ งานปอยส่างลอง (ปลอดเหล้า) ในอำเภอเมือง นอกจากนี้ ที่อำเภอปางมะผ้า กลุ่มชาติพันธุ์ได้กำหนดกฎระเบียบของชุมชน เช่น เจ้าภาพห้ามเลี้ยงเหล้าในงาน หากเจ้าภาพเลี้ยงเหล้าชาวบ้านจะไม่ไปช่วยงาน ห้ามดื่มและนำสุราเข้าไปในสถานที่สำคัญทางศาสนา ห้ามนำสุราเข้าไปในงานศพและงานบุญ รวมถึงงานบุญประเพณีห้ามเลี้ยงสุรา เป็นต้น ความสำเร็จของพื้นที่ต่าง ๆ ในการลดการดื่มของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้นแบบที่ดีที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

ทางด้าน นายประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และในฐานะชาวไทใหญ่ กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้นับเป็นการรวมของพี่น้องชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดจากเครือข่ายทั่วประเทศ ถึง 27 กลุ่ม อาทิ กะเหรี่ยงแดง ไทใหญ่ ลีซู ลาหู่ ปะโอ ม้ง ปกาเกอญอ ไทยญวน ไทใหญ่ ไทเบิ้ง ลาวแง้ว ไทพวน ไทยทรงดำ ไทย-รามัญ ลาวเวียง กูย เขมร ลาว และ ภูไท เป็นต้น จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีชุมชนต้นแบบงานประเพณีปลอดเหล้าหลายพื้นที่ เช่น 1.บ้านห้วยขาน โดดเด่นเรื่องงานบุญประเพณีปลอดเหล้า โดยขับเคลื่อนผ่านโครงการหมู่บ้านศีลห้า 2. บ้านผาบ่อง (ผาบ่องโมเดล) โดดเด่นเรื่องการขับเคลื่อนงานบุญประเพณีปลอดเหล้าในระดับตำบล หมู่บ้านนวัตวิถี ไทใหญ่ทาวส์ และชุมชนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 3. ชุมชนป๊อกกาดเก่า เป็นต้นแบบของสังคมเมืองที่สามารถจัดงานประเพณีปลอดเหล้ามานานกว่า 10 ปี เริ่มต้นจากการขับเคลื่อนงานปอยส่างลองปลอดเหล้า ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีการบวชสามเณรของชาวไทใหญ่ และสามารถขยายไปสู่งานบุญประเพณีปลอดเหล้าทั้งหมดของตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

“10 กว่าปีก่อน ในกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการดื่มหนักมาก โดยเฉพาะวันรับแขกในงานเทศกาลปอยส่างลอง ผลกระทบที่ตามมา คือ ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเสียหาย มีการทะเลาะวิวาท เกิดอุบัติเหตุ ที่สำคัญเกิดหนี้สินตามมาจำนวนมาก เพราะงบประมาณในการจัดงานโดยเฉพาะค่าเหล้าไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นถึงสามหมื่นบาทต่องาน เจ้าภาพบางรายมีค่าใช้จ่ายเป็นแสน ปี 2556 เราจึงมาหารือกันและสร้างข้อตกลงกันว่า งานปอยส่างลองต้องไม่มีการเลี้ยงเหล้า ซึ่งทุกคนต่างเห็นด้วย และร่วมมือกันจนเกิดผลสำเร็จ เกิดเป็นกระแส และสามารถขยายผลไปสู่งานบุญประเพณีอื่น ๆ ทั้งออกพรรษา ลอยกระทง งานศพ ต่อไปเราจะขยายผลไปสู่ชนเผ่าลีซู โดยจะดำเนินการไปทีละชนเผ่าในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ​นายประเสริฐ ประดิษฐ์ กล่าว

RANDOM

บอร์ดกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สร้างมิติใหม่ “อนุมัติทั้งปี” ให้ฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ การกีฬาแห่งประเทศไทย เดินงานตามแผนปี 2566 วงเงิน 2,145 ล้านบาท ด้าน “รองชุม” ผู้ดูแลงานเชื่อมั่นปัญหาเงินกับผู้เกี่ยวข้องที่ขอสนับสนุนจะคล่องตัวแน่

error: Content is protected !!