40 ปีเต็มๆของ “พลตรีจารึก” กับการเป็นผู้นำกีฬาตะกร้อ จากวันเริ่มต้น 20 ส.ค.2526 จนถึงวันสุดท้ายในหน้าที่ 21 ส.ค.2566…ด้วยอาลัย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

     สมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย ยุคเริ่มต้นนั้น เกิดขึ้นเพราะว่ากีฬาตะกร้อ กำลังเป็นที่นิยม มีการบรรจุเข้าในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง หรือ เซียพเกมส์ ที่กลายมาเป็นซีเกมส์ในปัจจุบัน ครั้งที่ 3 เมื่อ ปี 2508 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ และหลังจากนั้นก็มีการจัดการแข่งขันตะกร้อ ทั้งเซปักตะกร้อ (ตะกร้อข้ามตาข่าย) และ ตะกร้อลอดห่วง ขึ้นมากมาย ทั้งระดับนักเรียน กีฬากองทัพ กีฬาเขต หรือ แห่งชาติ ระดับสโมสร และ ระดับนานาชาติ

     ด้วยเหตุความนิยมและการจัดการแข่งขันหลายระดับ ของกีฬาตะกร้อมีมากมาย สังกัดเดิมที่กีฬาตะกร้ออยู่ในสังกัดคือ สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้มีการหารือและได้มีข้อสรุปที่จะแยกให้กีฬาตะกร้อออกไปเป็นสมาคมกีฬาต่างหากและมีเป้าหมายที่มากกว่าการอนุรักษ์ที่เคยทำมา

20 สิงหาคม 2526 พ.อ.(พิเศษ) เดชา นำประชุมเลือกพลตรีจารึกเป็นนายกสมัยแรก

     โดย เมื่อปี พ.ศ. 2524 คณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้มีมติและอนุมัติให้ พ.อ.(พิเศษ) เดชา กุลบุตร ขณะที่ตอนนั้นเป็นเลขาธิการสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการบริหารสมาคมกีฬาไทยกลุ่มหนึ่ง ไปก่อตั้งและขอจดทะเบียนตั้งสมาคมขึ้นมาอีก 1 สมาคม เพื่อบริหารกิจกรรมกีฬาตะกร้อ โดยเฉพาะ ใช้ชื่อว่า “สมาคมตะกร้อ” โดยทำการยื่นขอจดทะเบียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ในขณะที่กำลังดำเนินการจดทะเบียน ที่ประชุมได้มีมติให้ พ.อ.(พิเศษ) เดชา กุลบุตร รักษาการเป็นนายกสมาคมตะกร้อ โดยมี นายนพชัย วุฒิกมลชัย ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสมาคมฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2526 สมาคมได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการ

     ต่อมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2526 พ.อ.(พิเศษ) เดชา กุลบุตร และคณะกรรมการบริหาร (ชุดรักษาการ) และสโมสรสมาชิกในขณะนั้น ได้มีการประชุมใหญ่สามัญ โดยมีวาระที่สำคัญคือให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ เมื่อถึงวาระสำคัญ พ.อ.(พิเศษ) เดชา กุลบุตร ได้เป็นผู้เสนอชื่อ พ.อ. จารึก อารีราชการัณย์ (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกสมาคมฯ และ ที่ประชุมไม่มีผู้ใดคัดค้าน-เห็นชอบตามเสนอ

พลตรีจารึกรับตำแหน่งนายกตะกร้อคนแรก

 พ.อ. จารึก อารีราชการัณย์ จึงได้รับตำแหน่งนายกสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่บัดนั้น และนับเป็นนายกสมาคมตะกร้อคนแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

     โดยคณะกรรมการบริหารสมาคมตะกร้อชุดแรกที่เป็นทางการ “ยุคพลตรีจารึก”  เป็นนายกสมาคมนั้น ประกอบด้วย นายปรีดา รอดโพธิ์ทอง พันตรีประชา ธรรมโชติ เป็นอุปนายก นายนพชัย วุฒิกมลชัย เป็นเลขาธิการ นายวิรัตน์ เกิดเงิน และ นายธวัจชัย เกิดเมฆ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ นายสกล วัฒนารักษ์ เป็นเหรัญญิก พันตรีกมล ปานุทัย เป็นนายทะเบียน นายเกรียงศักดิ์ วิโรจน์ลายดี เป็นปฏิคม นายสุชาติ เกิดเมฆ เป็นประชาสัมพันธ์ และกรรมการประกอบด้วย นายทองหล่อ ไตรรัตน์ นายมนูญ ไตรรัตน์ นายวิสูตร ปานดี นายประชา ปานจีน นายวัฒนา ยุคแผน นายบุญแสง ติยะอินทรศักดิ์ นายสุรชัย  เย็นธนากรณ์ นายชนะ บุญมี นายธรรมนูญ หวั่งหลี

พลตรีจารึก นำประชุมสมัยแรก

     จากเหตุการณ์การเข้ารับตำแหน่งในครั้งนั้น ที่ พลตรีจารึก  (ยศปัจจุบัน) ถือเป็นนายกสมาคมตะกร้อคนแรกที่เป็นทางการ ก็ได้ช่วยสร้างผลงานให้กับวงการตะกร้อมากมาย และ มีเหตุที่ทำให้สะดุด เพียงครั้งเดียวคือ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2534 พลตรีจารึก ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาตะกร้อ เพื่อรับผิดชอบกรณีทีมตะกร้อไทย พ่ายแพ้ ต่อมาเลเซีย ทั้งประเภททีมเดี่ยวและทีมชุด ในรอบชิงชนะเลิศ เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 11 เมื่อปลายปี 2533 ณ กรุงปักกิ่งประเทศจีน ซึ่งตะกร้อบรรจุเข้าชิงเหรียญทองในระดับนี้เป็นครั้งแรก

     และการลาออกของพลตรีจารึกในครั้งนั้น สมาคมกีฬาตะกร้อ ได้ตั้ง ดร.เฉลิม ชัยวัชราภรณ์ เข้าทำหน้าที่รักษาการนายกสมาคม ในช่วงระยะเวลาที่คณะกรรมการบริหารได้เหลือวาระอยู่

     อย่างไรก็ตามนั้นเมื่อครบวาระนั้นแล้ว ในการประชุมใหญ่ของสมาคมกีฬาตะกร้อในวันที่ 23 ก.พ.2535 ก็ได้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมอีกครั้ง และ พลตรีจารึกก็ได้รับการไว้วางใจให้กลับมาทำหน้าที่นายกสมาคมกีฬาตะกรอแห่งประเทศไทยอีกครั้ง และได้ทำหน้าที่นี้จนกระทั่งถึง วันที่ 21 สิงหาคม 2566 ท่านได้เสียชีวิตด้วยวัย 90 ปี

การประชุมสมาคมตะกร้อสมัยวาระ 2 ของพลตรีจารึก

     รวมวันที่พลตรีจารึกเข้าสู่ตำแหน่งนายกตะกร้อ 20 สิงหาคม 2526 ถึง 21 สิงหาคม 2566 รวม 40 ปีเต็ม ๆ ที่ท่านอยู่ในวงการตะกร้อไทย

     พลตรีจารึก สร้างคุณงามความดีกับวงการกีฬาตะกร้อมากมาย ทั้งการวางรากฐานตะกร้อในระดับนักเรียน เยาวชน โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดการแข่งขันแบบต่อเนื่อง ทั้งการจัดกิจกรรมการแข่งขัน รายการระดับสโมสรภายใน ระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังริเริ่มการก่อตั้งมูลนิธิตะกร้อแห่งประเทศไทย สร้างศูนย์ฝึกของมูลนิธิ เพื่อใช้เป็นการฝึกซ้อม เก็บตัว และแข่งขัน ที่น้อยสมาคมกีฬาในประเทศไทย ที่จะสามารถดำเนินการได้

      และการดำรงตำแหน่ง ประธานสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ ประธานสหพันธ์ตะกร้อแห่งเอเชีย พร้อมด้วยการทำหน้าที่ในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในตำแหน่งสำคัญ และเป็นรองประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ของท่านในช่วงที่มีชีวิตอยู่ ได้มีส่วนผลักดันทำให้กีฬาตะกร้อสามารถถูกบรรจุในกีฬาระดับภูมิภาคอาเซียน และ ระดับเอเชีย ทั้งในรูปแบบการจัดแข่งในร่ม และ ชายหาด อย่างต่อเนื่อง มาจนปัจจุบัน

     นอกจากนี้ พลตรีจารึก โดยหน้าที่ กรรมการกีฬาของชาติในหลาย ๆ ส่วน ยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน เรื่องเงินรางวัลนักกีฬาจากการแข่งขันรายการต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ พร้อมมีส่วนรางวัลให้กับผู้ฝึกสอน และ สมาคมกีฬา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการมอบรางวัลมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยใช้เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และผลพวงนี้ ก่อให้เกิดรายได้จากรางวัลสำหรับนักกีฬาทีมชาติไทย รวมทั้งนักตะกร้อไทยมากมาย

RANDOM

กองทุนการศึกษา เอ็กซอนโมบิล สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มอบทุนการศึกษา 20 ทุน สำหรับนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่มีผลการเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ประจำปี 2566 หมดเขตยื่นใบสมัคร 10 พ.ย. นี้

error: Content is protected !!