ตอนที่ 2 : ระบบการศึกษาในประเทศอังกฤษ แปลโดย ดร.นิพัทธ์ อึ้งปกรณ์แก้ว

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ตอนที่ 2 ระบบการศึกษาในประเทศอังกฤษ

            คูเบอร์แต็งเข้าชมโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอังกฤษและไอริชเพื่อสังเกตการณ์หลายครั้ง โดยเขาตั้งคำถามแก่ครูและนักเรียนเพื่อความเข้าใจถ่องแท้ต่อการศึกษาที่เปลี่ยนจากที่คาดคิดก่อนคริสต์ศตวรรษสิบเก้า เขาชี้ความแตกต่างของการศึกษาที่ก้าวหน้าขึ้นจากความสำเร็จของผู้ริเริ่มที่โด่งดังสองท่านตามที่โดยเทเน (Taine) อ้างถึงกับประสบการณ์ตนเองในชั้นมัธยมศึกษาและระบบการศึกษาฝรั่งเศสที่กำลังปฏิบัติและติดหล่มอยู่

            งานนิพนธ์ระบบการศึกษาในประเทศอังกฤษจำนวน 326 หน้าประกอบด้วยบทนำและอีกสิบหกตอนดังนี้ การเยี่ยมโรงเรียนพับลิก โรงเรียนอีตัน โรงเรียนฮาร์โรว์ โรงเรียนรักบี้ โรงเรียนเวลลิงตัน โรงเรียนวินเชสเตอร์ โรงเรียนมาร์ลโบโร โรงเรียนชาร์เตอร์เฮ้าส์ โรงเรียนคูเปอร์สฮิลล์ โรงเรียนเวสต์มินสเตอร์ โรงเรียนไครสต์ฮอสพิตัล ความเห็นทั่วไปและสรุป โรงเรียนคาทอลิก ความทรงจำมหาวิทยาลัย ทอย์นบีฮอลล์ ปัญหาและการแก้ไข

            คูเบอร์แต็งใช้วิธีการสังเกตของเลอ เพลย์  (Le Play) ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในเวลานั้น เพื่อแสวงหาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของระบบการศึกษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้นกล่าวคือ การเกื้อหนุนนักเรียนให้ค้นพบศักยภาพมนุษย์ของตนเองและการอบรมเด็กให้ดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์ เกิดบูรณาการในตนเองและอยู่ในสังคมที่มีความคาดหวังต่อพลเมืองในระดับสูง

ตอน หนึ่ง

            ผู้อ่านที่รัก สิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังนำเสนอแก่ท่านในหน้าต่างๆนี้ไม่ใช่บัญญัติการศึกษา แต่เป็นความประทับใจที่เกิดขึ้นระหว่างการเข้าชมโรงเรียนพับลิกในประเทศอังกฤษ

            เป็นเวลานานแล้วที่ข้าพเจ้าได้ยินคุณพร่ำบ่นถึงสถานการณ์ของเด็กฝรั่งเศส คุณกล่าวถึงสิ่งต่างๆที่หนักหน่วงถึงขนาดว่า เด็กถูกริดลอนสิทธิขั้นพื้นฐาน

            เด็กทั้งหลายกำลังถูกยัดเยียดความรู้

            เด็กทั้งหลายกำลังกลายเป็นพจนานุกรมที่เดินได้

            เด็กทั้งหลายทำงานหนักเกินตัว สิ่งเหล่านี้เป็นคำสรรเสริญ อย่างไรก็ตาม แม้สมองของพวกเขาจะถูกเคี่ยวเข็ญเหมือนห่านที่ถูกบังคับให้อาหาร แต่ร่างกายกลับอ่อนเปลี้ยและจริยธรรมถดถอย ทั้งหมดนี้คือเสียงบ่นของพวกคุณซึ่งถูกต้องยิ่งนัก อย่างไรก็ตาม เซนต์รูทีนา (Saint Routine) ผู้อุปถัมภ์มหาวิทยาลัยและเซนต์พาชเมนต์ (Saint Parchment) ผู้อุปถัมภ์ราชอาณาจักรฝรั่งเศสไม่รับฟังเสียงโอดครวญของคุณ พวกเขาผูกมัดคุณกับขื่อคา พระเจ้า เด็กของคุณจะเป็นอย่างไรหากไม่มีวุฒิบัตรซึ่งจำเป็นยิ่งสำหรับฝรั่งเศสชนผู้มีเกียรติ หรือหากว่าการเรียนของพวกเขาหยุดชะงักลง คุณคงไม่สามารถจะมอบทางเลือกอนาคตต่างๆแก่พวกเขาดังเช่นบริกรนำเสนอน้ำซุปต่างๆ “กองทัพหรือม้านั่ง? การฑูตหรือการบริหาร?” คราวนี้ สมมติมีผู้เข้มแข็งหนึ่งคนเข้ามาหาคุณและกล่าวว่า “ข้าพเจ้าต้องการสร้างอาชีพตนเอง” ลองจินตนาว่าคุณจะตื่นเต้นเพียงใด! คุณไม่เชื่อการสร้างอาชีพตนเองเพราะคุณกำลังคิดถึงลมหายใจของอากาศบริสุทธิ์ที่มอมเมานักเรียนมัธยมปลายว่า เป็นเสรีภาพของพวกเขา และคุณก็รีบเร่งนำพาลูกจากอานเทียมหนึ่งไปอีกชิ้นหนึ่งเช่นกัน

            ภาษิตว่า ลมปากเลื่อนลอย เซนต์รูทีนาและเซนต์พาชเมนต์ต้องตายกลายเป็นหินจากการลงมือ ไม่ใช่การพูด สิ่งเหล่านี้คือ เหตุผลที่ข้าพเจ้าเดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อรวบรวมตัวอย่างให้มากสุด เข้าชมสถานการศึกษาชั้นนำ และตั้งคำถามต่างๆแก่ครูและนักเรียนจำนวนมาก หากข้าพเจ้าไม่ผิด สิ่งนี้เรียกว่า การปฏิบัติด้วยการสังเกตและเป็นการทำให้แน่ใจ หรือสิ่งที่จับต้องได้ การใช้เหตุผลปฐมภูมิและทฤษฎีสมมติฐานทำให้สิ่งที่เลอ เพลย์ แสดงมีความถูกต้องมากขึ้น

            เมื่ออ่านข้อความเหล่านี้ คุณจะเห็นว่า ในประเทศที่พัฒนาและนับถือศาสนาคริสต์เช่นพวกเรา เด็กถูกเลี้ยงดูตามระเบียบปฏิบัติที่ตรงข้ามกับสิ่งที่พวกเราทำ อย่างน้อยที่สุดแล้ว ย่อมมีหลากหลายวิถีเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน การศึกษาที่เป็นอิสระเป็นสิ่งสมควรสำหรับประเทศเสรีภาพโดยไม่ลดสถานภาพและไม่ใช่มูลเหตุของปฏิวัติในประเทศเราและอีกหลายประเทศ การได้ว่า การศึกษาหลงทาง เนื่องเพราะความสมบูรณ์ไม่มีในโลกนี้ ทั้งนี้ คุณประโยชน์เหล่านี้ย่อมควรแก่การพิจารณา เป็นจริงว่า พวกเราไม่ควรใส่ใจเฉพาะสิ่งที่ปรากฎเท่านั้น ประเทศอังกฤษสร้างปัจจุบันจากอดีตด้วยการสอดประสานระหว่างจิตวิญญาณของประเพณีและนวัตกรรม พวกเขาตอบโจทย์ปัจจุบันภายใต้การอนุรักษ์ภาพลักษณ์ที่น่าเลื่อมใสของศาสนา รูปแบบสถาปัตยกรรมของโรงเรียนพับลิกต่างๆคือโกธิค การสอนก็คล้ายโกธิค แต่การศึกษาไม่ใช่เช่นนั้น

            ผู้อ่านที่รัก ข้าพเจ้าหวังที่จะพิสูจน์แก่ท่านโดยอาจประสบผลหรือล้มเหลว แต่ขอละเว้นกล่าวว่าข้าพเจ้า “คลั่งอังกฤษ” ซึ่งคนทั่วไปใช้เป็นเกราะป้องกันตนเอง เราไม่สามารถชื่นชมสิ่งใดจากอีกฟากของช่องแคบอังกฤษหากไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือมุมมองที่มีอคติเสียก่อน

            แน่นอนว่า พวกเราเห็นร่วมกัน! พวกเราเกลียดคนอังกฤษและพวกเขาก็เกลียดพวกเรา แต่พวกเราโปรดละทิ้งไอร์แลนด์และทฤษฎีต่างๆของมัลธัส (Malthus) รวมทั้งไม่เอ่ยถึงคำพูดมากมายของคนอังกฤษ

            การเรียนรู้จากเพื่อนบ้านมีคุณประโยชน์เสมอแม้จะเป็นศัตรู เพราะการเลียนแบบสิ่งดีของเขาจะทำให้เราปรับปรุงและพัฒนา หากข้าพเจ้าไม่ถูกมองว่า คลั่งอังกฤษ คำติเตียนที่อาจมีคือ “ประโยชน์จากการศึกษาพวกเขาคืออะไร?” การกระทำนี้ไม่อาจเกิดประโยชน์แก่พวกเรา…พวกเราแตกต่างกันเกินไป” คำอ้างนี้แย่มาก! ประการแรกและสำคัญสุด การศึกษาคือศิลปะการสร้างมนุษย์ มนุษย์ไม่เหมือนกันในทุกแห่งใช่หรือไม่? พวกเขาไม่ได้มีร่างกายที่ต้องสร้างความแข็งแกร่งและบุคลิภาพที่ต้องพัฒนาใช่หรือไม่?

            นอกจากนี้ ข้าพเจ้าชื่นชมเพื่อนบ้านพวกเราในการรักษาประเพณีต่างๆของพวกเขา พวกเขาเข้าใจสิ่งเหล่านี้และกำลังสร้างรากฐานเพื่อให้คนรุ่นหลังปฏิบัติตาม ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่บุคคลซึ่งหลงผิด หลงทาง หลงตามกระแสนิยมที่ผิดเพี้ยนในปัจจุบัน จะไม่เข้าใจธรรมชาติ ลิขิตชีวิต และความต้องการของตนเอง โดยพวกเขาอาจเลี้ยงดูลูกในทางตรงข้ามกับบุคลิกภาพและคุณภาพของชาติพันธุ์ตนเอง ข้าพเจ้าเชื่อว่า พวกเรามีลักษณะเช่นนี้และการศึกษาฝรั่งเศสไม่ใช่ศิลปะของการสร้างคนฝรั่งเศส ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม สิ่งนี้ไม่ใช่การสร้างมนุษย์ เพราะมนุษย์ไม่มีแค่เพียงสติปัญญา แต่พวกเรากลับทำเสมือนว่าเป็นเช่นนั้น

            ชาวอังกฤษไม่ตกหลุมพรางนี้

            การเลี้ยงดูเด็กไม่ใช่เพียงแค่การสอน นักสัจจนิยมอาจยอมรับว่า “มีความแตกต่างเป็นอย่างยิ่งระหว่างการสอนซึ่งมอบความรู้ ให้ความคิด และผลิตผู้ทรงภูมิ กับการศึกษาที่พัฒนาสมรรถนะ ยกระดับความคิด และสร้างคน” แต่ไม่ใช่ฝรั่งเศสในช่วงเวลาของพวกเราที่สองแนวคิดกลับตาลปัตรกัน โดยนานาเหตุผลที่มากขึ้นของอดีตและปัจจุบันทำให้กล่าวได้ว่า การสอนคือทุกสิ่ง การศึกษาถูกละทิ้ง

            ข้อความต่างๆที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงเป็นของบาทหลวงดูพานลูป (Bishop Dupanloup) และ “เด็กไม่มีเสรีภาพ หากพวกเขาไม่อยู่ตามลำพังในระดับหนึ่งและมีความเป็นตัวของตัวเอง” คือคำกล่าวควรค่าทางการศึกษาของกีโซต (Guizot) รวมทั้งหลักคิดของมอนเตจนี (Montaigne) “การพัฒนาความคิดต้องทำให้กล้ามเนื้อของพวกเขาแข็งแกร่ง” ตลอดจนคำกลอนของณอง-ณัก รูโซ (Jean-Jacques Rousseau) “ยามร่างกายอ่อนแอลง ความต้องการทะยานสูง หากเข้มแข็งขึ้น วินัยเข้มงวดขึ้น”

            ข้าพเจ้าคิดว่า คำกล่าวทั้งสี่ของนักประพันธ์ฝรั่งเศสคือการสรุปจิตวิญญาณของการศึกษาอังกฤษที่เหมาะสม ชัดเจน และสมบูรณ์

            ผู้อ่านที่รัก ข้าพเจ้าลงท้ายการเขียนสิ่งที่เกือบจะเป็นคำนำและขออภัย…แต่ความผิดนี้เป็นของท่าน

ตอน สอง

            ต้องขออภัยที่ข้าพเจ้าจะเริ่มคำนำที่สอง สถาบันที่ข้าพเจ้าต้องกล่าวถึงในช่วงต้นคือบทนำสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่จัดการง่ายและจะค่อยๆนำเด็กสู่ระบบโรงเรียนรวมทั้งความคุ้นเคยเพิ่มมากขึ้นต่อระบบนี้

            ระบบโรงเรียนในอังกฤษมีความพิเศษและแปลกประหลาดในบางคราว ประเพณีได้รับการพิทักษ์รักษาจนกระทั่งนักปฏิรูปอาจได้รับความเกลียดชังหากขาดยุทธวิธีที่ดียิ่ง ระบบชนชั้นทรงไว้ซึ่งอิทธิพล โดยกล่าวได้ว่า ระบบโรงเรียนคือสังคมแท้จริงพร้อมด้วยองค์กร ธรรมเนียม กฎหมาย และอคติของตนเอง พลเมืองวัยเยาว์เหล่านี้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างดีดังข้อความหนึ่งในวารสารโรงเรียน (วารสารรักบี้) “พวกเราสร้างหน่วยสังคมจริงขึ้น ซึ่งพวกเราไม่เพียงแค่เรียนแต่ต้องแสดงออกและดำรงชีวิตภายในสังคมนี้ และไม่ใช่การแสดงออกและดำรงชีวิตของเด็กทั่วไป แต่เป็นเด็กที่จะเติบใหญ่” นักเขียนเยาวชนอาจจะอวดอ้างความสำคัญของเรื่องนี้แก่เพื่อน แต่ท้ายสุดแล้ว เขาก็แสดงถึงความคิดอ่านของคณะครูและนักเรียนได้เป็นอย่างดี เป็นที่เข้าใจได้ว่า เมื่อเด็กคนหนึ่งถูกจับส่งไปไว้ในบริบทเช่นนี้จะคิดถึงบ้านและตกอยู่ในสถานการณ์ก่อนจะรู้วิธีปฏิบัติตัว สิ่งนี้คือเหตุผลความจำเป็นของช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

            ชาวอังกฤษไม่เคยรีบร้อนที่จะแยกห่างจากเด็กของพวกเขาด้วยเหตุทางการเงินเป็นประการแรก พวกเขามีเด็กจำนวนมากในอายุคราวเดียวกันจึงทำให้สะดวกและง่ายต่อการศึกษา ชั้นเรียนร่วมย่อมมีต้นทุนต่ำกว่าชั้นเรียนส่วนบุคคล นอกจากนี้ ที่พักในโรงเรียนพับลิกก็แพงมากซึ่งไม่สามารถช่วยประหยัดประการใด มิตินี้มีความสำคัญแม้กระทั่งสำหรับชนชั้นมั่งมี คู่ครองอายุน้อยที่สมมติว่ามีฐานะการเงินดีอาจจะต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายต่างๆแม้จะไม่ทำให้หมดเนื้อหมดตัว ปรากฎการณ์นี้เกี่ยวข้องกับสังคมอังกฤษที่สตรีแต่งงานโดยไม่มีเงินให้แก่ฝ่ายชายและส่วนแบ่งมรดกทางกฎหมาย (ตามที่ปฏิบัติกันมา) ก็อาจไม่ได้รับเสมือนส่วนเสี้ยวขนมเค้ก

            คนจำนวนไม่น้อยทั่วโลกคิดว่า โรงเรียนมัธยมศึกษาคือสถานที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่จะใช้เวลาสำหรับวัยเด็กและวัยรุ่นโดยออกจากบ้านได้เร็วเท่าไร ย่อมจะดีเท่านั้น แต่คนอังกฤษทั่วไปไม่เห็นด้วยกับความคิดย้อนแย้งเช่นนี้ ทำไมเราจึงคิดว่าสังคมไม่เหมาะกับเด็กและน่าเศร้าสำหรับคนที่คิดเช่นนั้น! ในทางตรงข้าม ชาวอังกฤษซึ่งถือโรงเรียนมัธยมศึกษาเป็นมาตรการชั่วคราว (พวกเขาจะคิดเกี่ยวกับพวกเราอย่างไร?) ต้องการขยายช่วงเวลาที่พ่อแม่และเด็กอาศัยในบ้านเดียวกันให้นานเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งเป็นจังหวะที่ความผูกพันครอบครัวก่อตัวขึ้นและความเข้มแข็งนี้ทำให้ครอบครัวยั่งยืนตลอดชีวิต ผู้คนที่มีความผูกพันดังกล่าวจะกระจัดกระจายไปทั่วโดยจะพบกันน้อยครั้งมาก แต่พวกเขามีความทรงจำของ “บ้าน” พวกเราเห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่าง “บ้าน บ้านแสนหวาน” ที่ติดปากชาวอังกฤษกับชีวิตที่โดดเดี่ยว พเนจรและอยู่อย่างอิสระซึ่งเหมาะกับคนไร้มาตุภูมิที่ไม่มีหมู่บ้านหรือครอบครัวตนเองหรือไม่?

            ทั้งนี้ พ่อแม่ต้องการช่วงเวลาที่เด็กของพวกเขาจะอยู่บ้านให้นานเท่าที่จะเกิดความทรงจำต่างๆ ยามที่พวกเขาตัดสินใจแยกจากกันจะมีเงื่อนไขว่า พวกเขาจะกลับมาอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่งปีละสามครั้งคือ คริสต์มาส อีสเตอร์ และช่วงฤดูร้อน จนกระทั่งถึงเวลาที่เห็นพ้องกันว่าแต่ละคนจะแยกเดินตามเส้นทางชีวิตที่มีความหมายของตนเอง

            แม่ลูกอ่อนที่เพิ่งให้กำเนิดลูกชายคนแรกกล่าวว่า “ฉันจะเลี้ยงดูลูกแบบอังกฤษที่เรียบง่ายคือ คุณต้องมีอ่างและน้ำจำนวนมาก” โดยข้าพเจ้าเองตระหนักถึงความจำเป็นของสิ่งเหล่านี้ซึ่งไม่มีความพิเศษโดดเด่น แต่กลับทำให้คิดไปว่า เฉพาะผู้คนที่อยู่ในอังกฤษเท่านั้นที่อาบน้ำ

            ในอังกฤษตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เด็กชายหลงใหลมนต์เสน่ห์ของกลางแจ้งและบทเรียนที่ไม่สร้างปัญหาแก่พวกเขาก่อนเวลาอันควร โดยแม้พวกเขาจะไม่กังวลมากต่อการพัฒนาความคิดและส่งเสริมสติปัญญาตั้งแต่เล็ก แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการเร็วเกินไปในการสร้างบุคลิกภาพและพัฒนากำลังกายตนเอง เด็กอังกฤษรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชายตั้งแต่เมื่อตนวิ่งได้และรู้ว่า น้ำตาของพี่/น้องสาวเป็นสิ่งน่าละอายสำหรับตนเอง เขารับรู้ว่า “ต้องเป็นชาย” ตลอดเวลา บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าเห็นเด็กชายที่แม้จะยังอ่านหนังสือไม่ออกแต่สามารถกลั้นน้ำตาเมื่อหกล้มบาดเจ็บ

            ขอให้ทราบว่า การศึกษาขั้นต้นนี้ไม่ใช่แบบชาวสปาร์ตาแน่นอน ความไร้เหตุผลแบบไลเคอกัส (Lycurgus) ไม่มีอีกแล้ว มารดาอ่อนโยนมากต่อลูก บิดาชื่นชม รวมทั้งระบบอนุบาลไม่หยาบกระด้างแม้แต่น้อย ไม่มีการละเลยต่อการดูแลและความใส่ใจ โดยเหตุดังนั้น พวกเขาจึงไม่เจ็บปวดจากการทำให้เด็กแข็งกระด้างโดยหลีกเว้นภาพลักษณ์ภายนอกของเด็ก…ความแตกต่างที่ซ่อนเร้น ข้าพเจ้าประสงค์จะอภิปรายเรื่องนี้ในรายละเอียดเนื่องจากเป็นความโดดเด่นแท้จริง

            ผลปรากฎชัดในเกมละเล่นต่างๆของเด็ก เด็กชายไม่สร้างปราสาททราย พวกเขากลิ้งตัวบนหญ้า นั่งห้อยขาบนรั้วและปีนต้นไม้ ความกล้าหาญของพวกเขาเป็นที่โด่งดัง ทุกคนจำฉากประทับใจของเทเนได้ว่า เด็กคนหนึ่งเกี่ยวขาข้างหนึ่งบนม้าแคระวิ่งเข้าสนามหญ้าใกล้วัวกระทิงตาดุร้ายและตะโกนย้อนหลังม้าแก่พี่สาวว่า “ไม่ต้องกลัว สาวน้อย ข้าพเจ้าจะนำทางเอง”

            ภาพดังกล่าวคือนักเรียนของโรงเรียนไปรเวทของอังกฤษ เด็กทั้งหลายที่พ่อแม่ต้องห่างไกลระยะหนึ่งจะสมัครเรียนเมื่อเยาว์วัย หรือเด็กที่พ่อแม่อาศัยในกรุงลอนดอนและกังวลต่อภูมิอากาศ รวมทั้งเด็กที่สติปัญญาเลิศซึ่งพร้อมได้รับการผลักดัน ในขณะที่เด็กซึ่งมองหาช่วงเปลี่ยนผ่านจะเข้าโรงเรียนช้าเพื่อไม่ให้เสียเวลา โดยทั่วไป โรงเรียนพับลิก (ยกเว้นโรงเรียนที่มีชั้นเตรียม) จะรับนักเรียนอายุไม่น้อยกว่าสิบสองหรือสิบสามปีซึ่งเป็นกรณีของโรงเรียนคาทอลิกที่นักเรียนเข้าสู่ชุมชนเป็นครั้งแรก

            ครู (โดยปรกติ จบชั้นปริญญาจากมหาวิทยาลัย) จะรับนักเรียนจำนวนหนึ่งที่บ้านตนเองเสมือนเป็นต้นอ่อนของโรงเรียนไปรเวท โดยมีทุกชนิด ขนาดและสถานที่ไม่ว่าจะใกล้มหาสมุทร ท้องถิ่น ใกล้เมืองและพื้นที่ห่างไกล จำนวนนักเรียนมีความหลากหลายโดยเฉลี่ยประมาณสิบถึงสิบสองคน สามสิบคนถือว่ามาก หากมากกว่านั้นถือว่าเกินควร เนื่องเพราะครูต้องแบ่งภาระหน้าที่บางส่วนให้แก่ผู้ดูแล (ushers) หรือ “พิอง” (pion) ที่ได้รับการดูถูกในฝรั่งเศสซึ่งไม่ได้เลวร้ายน้อยกว่า เพียงแต่แพร่หลายน้อยกว่าในอังกฤษ

            ผู้ดูแลไม่ใช่สุภาพบุรุษ

            ใครจะเป็นผู้ให้ความหมายแท้จริงของคำว่า สุภาพบุรุษ? ซึ่งคำนี้กำหนดได้ และตอบสนองแนวคิดชัดเจนกล่าวคือ มารดาผู้วางใจมอบเด็กแก่สุภาพบุรุษรู้ว่า เด็กจะไม่สูญเสียอากัปกิริยาขณะอยู่กับผู้นั้น เด็กจะไม่ได้ยินคำไม่ดี และเด็กจะไม่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

            พวกเราต้องตระหนักว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัยคือสิทธิบัตรความโดดเด่นและไม่ว่าภูมิหลังของบุคคลจะเป็นเช่นไร ผู้เคยร่ำเรียนที่อ๊อกฟอร์ด (Oxford) หรือเคมบริดจ์ (Cambridge) จะไม่เคยจบออกมาโดยไม่ได้ถูกขัดเกลาจากสังคมอย่างสม่ำเสมอ แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการอธิบายความลับแก่ข้าพเจ้ากล่าวคือ ความเป็นคนอังกฤษที่โดดเด่นหรือคุณอาจกล่าวว่า ธรรมชาติความโดดเด่นของพวกเขา ข้าพเจ้าจะพุ่งเป้าค้นหาคำอธิบายความเรียบง่ายอย่างยิ่งของพวกเขา ยกเว้นชาวกรุงลอนดอนแล้ว ความเรียบง่ายเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับความมั่งคั่งและสถานะสังคมโดยไม่มีการวางตัวมากมายสำหรับผู้ชายหรือการเดินเหิรของผู้หญิง ไม่มีการทำสิ่งใดเพื่อการโอ้อวด สิ่งนี้อาจหมายถึงการยึดตัวเองเล็กน้อยและความแห้งแล้งของสัมพันธภาพ แต่บรรยากาศทั่วไปทำให้ดีขึ้น

            ในโรงเรียนไปรเวท ภรรยาครูจะรับผิดชอบการปกครองภายในบ้าน ห้องซักล้าง ห้องพยาบาล และห้องครัว เธอให้อิสระแก่ผู้อาศัยโดยเพียงตรวจสอบและให้คำสั่งต่างๆ หญิงชาวอังกฤษจะไม่เหมือนเจ้าของโรงเรียนกรุงปารีสที่จะนำงานเย็บปักถักร้อยของตนเองเข้าห้องเรียนและให้นักเรียนอธิบายเครื่องแต่งกายของมารดาหรือพี่/น้องสาว ในอังกฤษมีบ้านสองแห่งในชีวิตจริงโดยเด็กชายมักจะเดินทางจากหลังหนึ่งไปอีกหลังหนึ่งซึ่งพวกเขาจะได้การต้อนรับในร้านค้าหนึ่ง พวกเขายื่นมือช่วยเหลือแม้กระทั่งการรับรองผู้มาเยือน การจัดตั้งในลักษณะนี้ทำให้โรงเรียนไปรเวทเสมือนเป็นครอบครัวขยายหลังหนึ่ง คุณมีปัญหาในการค้นหาโรงเรียนไปรเวทหรือไม่? ให้มองหานายหน้าแห่งหนึ่งในหนังสือพิมพ์ไทม์หรือสแตนดาร์ดซึ่งจะให้ข้อมูลจำนวนมากโดยไม่มีค่าใช้จ่าย คุณจะได้รับจดหมายและแผ่นโฆษณาตลอดสัปดาห์ โดยสมาคมครูทราบชื่อและที่อยู่ของคุณซึ่งพวกเขาจะว่องไวในการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้คุณไว้วางใจ

            แบบหรือภาพของบ้านมักจะมากับจดหมายพร้อมรายละเอียดทางธรณีวิทยาของดินและอาจมีการวิเคราะห์น้ำดื่มด้วย ในไม่ช้า พวกเขาจะโฆษณาถึงการกรองฆ่าเชื้อโรคคล้ายกับโรงแรมติดประกาศเรื่องลิฟท์บริเวณทางเข้า เป็นที่แน่นอนว่า ทุกสิ่งได้รับการนำเสนอเป็นอย่างดีแต่ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่า โดยทั่วไปแล้ว สิ่งนำเสนอเป็นที่น่าพอใจยิ่ง

              โรงเรียนไปรเวทมีอยู่หลายประเภท บางแห่งเป็นโรงเรียนเตรียมขนาดเล็กในขณะที่อีกหลายแห่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแท้จริงที่ก่อตั้งโดยบริษัทของหุ้นส่วนหรือคณะครู โรงเรียนจำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างสองประเภทนี้และสุดท้ายคือ โรงเรียน “กวดวิชา”

             สำหรับโรงเรียนประเภทแรกนั้น ข้าพเจ้าขอเอ่ยถึงโรงเรียนโบวเด้นเฮ้าส์ (Bowden House) ซึ่งใกล้กับโรงเรียนฮาร์โรว์ (Harrow) โดยรับนักเรียนอายุเจ็ดถึงสิบเอ็ดปี ค่าใช้จ่ายจำนวน 80-100 กินีต่อปี (2,000-2,600 ฟรังก์) โรงเรียนนี้มีสิ่งอำนวยสะดวกครบครันสำหรับคลิกเก็ตและเกมอื่นๆ ซึ่งแจ้งไว้ตั้งแต่บรรทัดแรกของแผ่นโฆษณา

            จากนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงวิทยาลัยเซนท์เอ็ดมุนด์ ถนนเอ็ลกินเคร็สเซนต์ เขตน็อตติ้งฮิลล์ตะวันตก ที่นี่คือโรงเรียนกลางวันแห่งแรกที่เพิ่งก่อตั้งโดยสมาคมของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ รับเด็กตั้งแต่หกขวบโดยพวกเขาอาจไป-กลับหรืออยู่หอพักก็ได้ ในช่วงเช้า ชั้นเรียนเริ่มตั้งแต่ 09.15-11.00 น. และ 11.15-13.00 น. และช่วงบ่ายเวลา 15.00-17.00 น. หรือ 14.00-16.00 น. ตามฤดูกาล ค่าใช้จ่ายจำนวน 15 กินีต่อปี (312-390 ฟรังก์)

            วิทยาลัยแอปปูเดอคอมบ์ตั้งอยู่บนเกาะไวท์ซึ่งแต่เดิมคือคฤหาสน์ของเค้าท์แห่งยาร์โบโร พื้นที่มีความสวยงามแวดล้อมด้วยสวนขนาด 700 เอเคอร์และได้รับการปรับปรุงสำหรับการใช้งานแบบใหม่แต่ยังคงไว้ซึ่งความอลังการ พื้นที่จัดซื้อรวมบริเวณทั้งหมดไม่ใช่แต่เพียงคฤหาสน์ซึ่งรวมถึงสิทธิการล่าสัตว์ด้วย นักเรียนอายุสิบเจ็ดปีจะได้รับอนุญาตให้ล่านกกระทาของโรงเรียนได้ด้วยค่าธรรมเนียมสองปอนด์ต่อปี (50 ฟรังก์) อย่างไรก็ตาม พื้นที่นี้ยังใช้ประโยชน์มากกว่าการบันเทิง หากนักเรียนต้องการใช้ชีวิตในอาณานิคมแห่งนี้ พวกเขาจะฝึกหัดการเกษตรกรรม การทำไร่และการจัดการไร่ พวกเขาจะได้เรียนภาษาฮินดูนอกเหนือจากภาษาสมัยใหม่อื่นๆด้วย

               วิทยาลัยแอปปูเดอคอมบ์สามารถรองรับนักเรียนจำนวนห้าสิบคนซึ่งนับว่ามาก ความพยายามในการแยกนักเรียนเล็กออกจากนักเรียนโตไม่เคยประสบผล ทั้งนี้ โรงเรียนไปรเวทไม่ควรมุ่งแทนที่โรงเรียนพับลิก โดยมีบทบาทเป็นห้องโถงสู่ชั้นเรียนสูงขึ้นเพื่อเตรียมเด็กเล็กสู่การเปลี่ยนแปลงของชีวิตตนเอง

            สถาบัน “กวดวิชา” แทบไม่อยู่ในขอบเขตการศึกษานี้ด้วยข้าพเจ้าตั้งใจอภิปรายเรื่องการศึกษามากกว่าการสอน เป้าหมายของสถาบันเหล่านี้คือการเติมเต็มความจำของนักเรียนเพื่อการทดสอบที่สำคัญ เป็นความโชคดีที่บทบาทของสถาบันเหล่านี้ไม่มีนัยสำคัญในอังกฤษซึ่งการทดสอบถือเป็นสิ่งปรกติและการเรียนธรรมดาก็มักจะเพียงพอต่อความสำเร็จ ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์ที่จะเสียเวลากับหัวข้อนี้โดยอาจต้องการคำอธิบายบางประการเท่านั้น ข้าพเจ้ากำลังเก็บรายละเอียดของโรงเรียนพับลิกและมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งอาจจะวิพากษ์มากเกินควร แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การศึกษาซึ่งเป็นงานสวยงามและยิ่งใหญ่นั้น ประกอบด้วยมิติหลากหลายของสิ่งเล็ก สิ่งน้อย และข้อพิจารณาย่อยๆที่อาจดูเป็นเรื่องรอง โดยเหตุดังนั้น เป้าหมายเดียวของข้าพเจ้าในที่นี้คือการสร้างภาพปะติดของข้อเท็จจริงต่างๆจากที่ข้าพเจ้าสามารถรวบรวมด้วยตนเองแต่ละชิ้น

            ก่อนอื่น ข้าพเจ้าจะศึกษาโรงเรียนพับลิกในสหราชอาณาจักรเช่น อีตัน ฮาร์โรว์ รักบี้ เวลลิงตัน วินเชสเตอร์ มาร์ลโบโร ชาร์เตอร์เฮ้าส์ เวสมินส์เตอร์ และตามด้วยโรงเรียนคาทอลิกต่างๆที่สำคัญ ท้ายสุดคือมหาวิทยาลัยต่างๆโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดและเคมบริดจ์ ข้าพเจ้าจะสรุปข้อพิจารณาต่างๆของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนซึ่งพวกเรากำลังประสบในฝรั่งเศสและระบบอังกฤษซึ่งได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสำหรับชาติพันธุ์พวกเราที่อาจช่วยแก้ไขได้

            อย่างน้อยที่สุด สิ่งนี้คือความหวังของข้าพเจ้า

            ข้าพเจ้าเกริ่นนำแล้วเสร็จและจะนำสู่โรงเรียนอีตัน โดยขอกล่าวถึงรายนามผู้ช่วยเหลืองานต่างๆของข้าพเจ้าเป็นอย่างมากและบุคคลที่ข้าพเจ้ามีความสุขที่สามารถแสดงความขอบคุณจากที่ไกลดังนี้ โบเว็น (ฮาร์โรว์) ลี-วอร์เนอร์ (รักบี้) คอร์นิช มิตเชล (อีตัน) ดู บูเลย์ (วินเชสเตอร์) โทมัส (มาร์ลโบโร) จูเนียน รัตเทอร์ฟอร์ด (เวสมินส์เตอร์) ครอสเล็ก (คูเปอร์สฮิลล์) อาร์ ลี (ไครสต์ฮอสพิตัล) นอร์ริส (เอ็ดบาสตัน) ซูเตอร์ (ออสก็อต) โอแฮร์ (โบมอนต์) ลิดดอน เลน-พูล วิลสัน-ลินช์ (อ็อกฟอร์ด) เซ็ดเลย์-เทย์เลอร์ วอลด์สตีน (เคมบริดจ์) และอาร์โนลด์ (ดูบลิน)

RANDOM

NEWS

“ครูมวยไทย” เนื้อหอม เตรียมเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมส่งเสริมกีฬามวยไทย ที่ซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง 7-9 พ.ค.นี้ หลังได้ใบประกาศนียบัตร ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!