จุฬาฯ พัฒนา “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น” ใช้งานง่าย น้ำหนักเบา ลดอาการสั่นได้ดี ลดเสี่ยงจากการกินยาและการผ่าตัดสมอง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

แพทย์จุฬาฯ พัฒนาถุงมือพาร์กินสัน ลดอาการมือสั่นได้โดยอัตโนมัติ ใส่ง่าย น้ำหนักเบา คืนชีวิตทางสังคมให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน ลดผลข้างเคียงจากการรับประทานยาหลายชนิด และโอกาสเสี่ยงจากการผ่าตัดสมอง

สั่น ช้า เกร็ง เป็นอาการผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ชัดในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) โดยเฉพาะอาการมือสั่นขณะพักอยู่เฉย ๆ ที่พบได้ในผู้ป่วยถึงร้อยละ 70 อาการสั่นที่ควบคุมไม่ได้นี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างที่ต้องการ จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ดูแล ซึ่งลดทอนความมั่นใจในตัวเอง และทำให้รู้สึกอายในการเข้าสังคม

แนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบัน คือ การรับประทานยารักษาโรคพาร์กินสันหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถลดอาการสั่นได้ทั้งหมด และในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการสั่นมาก ๆ ก็อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการสั่น ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่มีใครปรารถนา เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และมีผลข้างเคียงมาก นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ให้ทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น” มาตั้งแต่ปี 2557 ได้ทำการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โดยคำขอรับสิทธิบัตร ภายใต้ชื่อ เครื่องวัดอาการสั่นและระงับอาการสั่นด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าแบบพกพา ตั้งแต่ มกราคม 2560 และมีผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติ ที่สนับสนุนประสิทธิภาพของอุปกรณ์ จนล่าสุดทีมได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น รุ่นที่ 5” ที่มีน้ำหนักเบา สวมใส่ง่าย ลดสั่นได้ดีอย่างเป็นอัตโนมัติ ที่สำคัญ คือ มีราคาย่อมเยากว่าอุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ

“ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นแรก ที่ช่วยลดอาการมือสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยกระแสไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยให้คนไข้พาร์กินสันมีอาการสั่นลดลง โดยไม่ต้องเพิ่มยารับประทานจนเกินความจำเป็นและลดความเสี่ยงของการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการสั่น” ผศ.ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ เผยถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับโรคพาร์กินสัน

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกว่า 10 ล้านคน และในประเทศไทย มีราว 150,000 ราย โดยมีการประเมินว่า ในจำนวนผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) 100 คน จะมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน 1 คน ยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่า แนวโน้มผู้ป่วยโรคโรคพาร์กินสันจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวในอนาคต

ผศ.ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ กล่าวเสริมว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หากผู้ป่วยอยู่ในวัยทำงาน ก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และความสามารถในการทำงาน รวมไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจในครอบครัว ในขณะที่โรคพาร์กินสันในผู้ป่วยที่สูงวัยจะเกิดผลกระทบทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง อันเนื่องมาจากภาวะสูงวัยที่อาจจะเพิ่มปัญหาการทรงตัวไม่ดี การเดินลำบาก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง จนอาจจะเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น การหกล้ม จนเกิดการบาดเจ็บ หรือ มีภาวะกระดูกหัก เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะผู้ป่วยติดเตียงได้ ทั้งหมดนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อแนวทางการรักษา งบประมาณค่าใช้จ่าย สุขภาวะทั้งของผู้ป่วย และครอบครัว และระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศอีกด้วย

ผศ. ดร.แพทย์หญิงอรอนงค์ อธิบายลักษณะการทำงานของถุงมือพาร์กินสันในการลดอาการสั่นแบบอัตโนมัติ ว่า การระงับอาการสั่นด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยไฟฟ้า เมื่อชุดเซนเซอร์รับสัญญาณตรวจพบลักษณะของการสั่นที่จำเพาะกับโรคพาร์กินสัน ระบบจะแปลงสัญญาณและส่งข้อมูลผ่านทางระบบไร้สาย (Bluetooth) เพื่อควบคุมเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการสั่น โดยใช้กำลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ขนาดเล็ก โดยเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อที่พัฒนามาจะใช้ความต้านทาน ความถี่ และกระแสไฟฟ้าในขนาดที่ปลอดภัยและเป็นมาตรฐานที่ใช้ในงานกายภาพบำบัด ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย

อุปกรณ์ถุงมือพาร์กินสัน 1 ชุด จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. ถุงมือที่มีการติดอุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า 2. เครื่องควบคุมการทำงานโดยการตรวจวัดอาการสั่น และการปล่อยกระแสไฟฟ้า และ 3. โทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีการติดตั้งโปรแกรมการควบคุมการทำงาน (mobile application) ในการเก็บข้อมูลอาการสั่น และการกระตุ้นกล้ามเนื้อบนหน่วยความจำในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ คอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมวิเคราะห์การสั่นโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งทั้ง 3 ส่วนประกอบ ของถุงมือพาร์กินสันจะทำงานร่วมกันโดยอัตโนมัติ ผ่านการเชื่อมต่อและเก็บข้อมูลด้วยระบบไร้สาย (Bluetooth) 

จุดเด่นของถุงมือพาร์กินสันลดสั่น รุ่นที่ 5  มีหลายประการด้วยกัน ได้แก่ มีความปลอดภัยสูงในการตรวจวัดอาการสั่น และสามารถลดอาการมือสั่นได้อย่างชัดเจน 2. สวมใส่ง่าย น้ำหนักเบา 3. มีต้นทุนการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยา และการผ่าตัด 4. อุปกรณ์เป็นทางเลือกในการรักษาอาการมือสั่นที่สามารถช่วยลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาหลายชนิด หรือ ความจำเป็นในการเพิ่มการรักษาอื่น ๆ เพื่อลดอาการสั่น 5. สามารถบันทึกลักษณะอาการสั่นของคนไข้แบบอัตโนมัติ และผู้ป่วยสามารถส่งข้อมูลทางออนไลน์ให้แพทย์ได้ทันที เพื่อทำการประเมินการรักษาได้อย่างสม่ำเสมอ 6. สามารถนำมาใช้เพื่อลดอาการมือสั่นของโรคอื่นได้ด้วย

แม้ในต่างประเทศจะมีการออกแบบและจำหน่ายอุปกรณ์ช่วยลดอาการมือสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสัน แต่อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะมีราคาสูงมากและยังไม่มีอุปกรณ์ในลักษณะแบบเดียวกัน ที่มีผลงานวิจัยทางการแพทย์รองรับ แต่นวัตกรรมถุงมือพาร์กินสันลดสั่นของ จุฬาฯ มีผลงานวิจัยทางคลินิกรองรับ และมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติ อีกทั้งราคาการผลิตถุงมือก็ต่ำกว่าของต่างประเทศ โดยปัจจุบันราคาการผลิตอยู่ที่ราว 3-4 หมื่นบาทต่อชุด

หน่วยงานและผู้สนใจ “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น” ติดต่อได้ที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตึกผู้สูงอายุ หรือ ตึก สธ. ชั้น 7 โทร. 02-256-4000 ต่อ 70702 – 3 โทรสาร. 02-256-4000 ต่อ 70704 โทรศัพท์มือถือ 081-107-9999 เว็บไซต์ www.chulapd.org

RANDOM

สิโนไทย จัดใหญ่ “งานแนะแนวทุนการศึกษาต่อประเทศจีนจาก 7 มหาวิทยาลัยดัง” พุ่งเป้าโครงการ “ภาษาจีน+ทักษะวิชาชีพ” เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ปิดรับลงทะเบียนร่วมงาน 20 ม.ค.นี้

error: Content is protected !!