“AICute” เว็บแอปตรวจประเมินโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจ รักษาตรงจุด ลดเสียชีวิตและพิการ ฝีมือนักวิจัยจุฬาฯ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ทีมวิจัยคณะแพทยศาสต​ร์​ และคณะวิศวกรรมศาสตร์​ จุฬา​ฯ​ ร่วมพัฒนา​ AICute​ นวัตกรรรม​ตรวจประเมินโอกาสของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากโรคหัวใจ​ มุ่งช่วยโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง​ ลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์

ในแต่ละปี คนไทยจำนวนมากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หลายคนเสียชีวิต และอีกจำนวนมากต้องพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้โรคนี้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ก็ใช่ว่าจะตรวจประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าเพื่อป้องกันไว้ก่อนไม่ได้
ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกันคิดค้นและพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยตรวจประเมินโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในลำดับแรก ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยตรวจประเมินความเป็นไปได้ในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ โดยให้ชื่อว่า “AICute” ซึ่งทีมวิจัยหวังให้นวัตกรรมดังกล่าวสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนเครื่องมือและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ

แม้โรคหลอดเลือดสมองจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากรู้สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค และเข้ารับการรักษาได้เร็ว โอกาสหายจากโรคก็มีสูง ลดการเกิดโรคซ้ำได้ ดังนั้น การหาสาเหตุของโรคสำคัญต่อการให้แนวทางการรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ หากไม่หาสาเหตุ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ซ้ำ และเมื่อเป็นซ้ำครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 โอกาสที่จะพิการก็มีมากขึ้น ทำให้ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นภาระของผู้ดูแล และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาก็เพิ่มขึ้นด้วย โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็มีแนวทางการรักษาที่ต่างกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พบว่า 18% ของโรคหลอดเลือดสมองมาจากโรคหัวใจ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ ชนิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และชนิดลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือ ภาวะหัวใจโต ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดที่หัวใจ และลอยไปอุดตันที่สมอง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

นพ. วสันต์ อัครธนวัฒน์ จาก ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า ในการหาสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองที่มาจากโรคหัวใจนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจหัวใจอย่างละเอียด และอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังขาดแคลนในโรงพยาบาลชุมชน​ และโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล โรงพยาบาลเหล่านี้คงไม่สามารถส่งตัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคนไปตรวจโรคหัวใจได้ เพราะการตรวจโรคหัวใจมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้ง การส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงเรียนแพทย์ ก็จะทำให้เกิดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทีมวิจัยเลือกที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อการตรวจประเมินโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหัวใจ​ก่อนเป็นอันดับแรก​ “นวัตกรรม AI​Cute” หากพูดเร็ว ๆ เสียงของ AICute จะคล้ายกับคำว่า acute ซึ่งหมายถึง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดของโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องรีบรับการรักษา
นอกจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว นวัตกรรม AICute เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม​ จุฬาฯ​ (Chula UTC)

AICute เป็นเว็บแอปพลิเคชันที่มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีความเสี่ยงสูงจากโรคหัวใจ​ ช่วยให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ​และโรงพยาบาลขนาดเล็ก สามารถตัดสินใจและเลือกส่งผู้ป่วยตรวจหัวใจได้รวดเร็วขึ้น ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพมากขึ้น​

นพ.วสันต์ อธิบายถึงการใช้งาน AICute ว่า แพทย์ผู้ใช้อุปกรณ์เพียงล็อกอินผ่านเว็บแอปพลิเคชัน และกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ เป็นข้อมูลหลัก ๆ 2 อย่าง คือ อาการของผู้ป่วย กับ ประวัติบางส่วน และภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจำนวน 30-32 รูป ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลขนาดเล็กก็จะมีเครื่องมือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองอยู่แล้ว จากนั้นตัวแอปพลิเคชันจะนำข้อมูลมาประมวลผล ใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที แล้วสรุปออกมาเป็นรายงานว่า ผู้ป่วยมีความเป็นไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากโรคหัวใจ หลังจากนั้น แพทย์ผู้ใช้งานจะอ่านผลและตัดสินใจว่าจะส่งผู้ป่วยตรวจต่อหรือไม่ AICute มีความแม่นยำในการประมวลผลและตรวจพบความผิดปกติอยู่ที่ 92-94% อ้างอิงจากฐานข้อมูลภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูงในการประมวลผลกว่า 40,000 ภาพ

ปัจจุบัน AICute ยังอยู่ในเฟสของงานวิจัย และได้เริ่มทดลองใช้งานแล้วภายในโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งได้ผลตอบรับดี เป็นที่น่าพอใจ ทางทีมวิจัยมีแผนว่า จะวิจัยต่อในกลุ่มคนไข้จริงเป็นกลุ่มใหญ่ และเก็บข้อมูลนอกโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อปรับปรุง AI ให้ดีขึ้น อีกทั้งพัฒนา interface ให้ใช้งานง่าย สวยงาม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปีนี้ (2566) และเปิดให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ที่สนใจได้ใช้งานและพัฒนาวิจัยร่วมกัน โดยในระยะยาวจะออกเป็นซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ที่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน ในอนาคตทีมวิจัยยังมีแผนการพัฒนา AI เพื่อตรวจหาสาเหตุโรคหลอดเลือดสมองอื่น ๆ ซึ่งอาจต้องมีการเพิ่มฐานข้อมูลภาพการเอกซเรย์หลอดเลือด และการฉีดสี เพื่อใช้ในการประมวลผลต่อไป

โรงพยาบาลที่สนใจ AICute สามารถติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคารภูมิสิริ ชั้น 7 โซน C หรือ โทร. 02-256-4000 ต่อ 80724-5

RANDOM

เปิดฉากแล้ว “ภาษีการบริจาคเพื่อกีฬา” ซึ่งหนุนให้ภาคเอกชนและประชาชน บริจาคให้หน่วยงานกีฬาหรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ แล้วจะได้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า ในกรอบเวลา 2 ปี (2566-2567)

NEWS

“ครูมวยไทย” เนื้อหอม เตรียมเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมส่งเสริมกีฬามวยไทย ที่ซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง 7-9 พ.ค.นี้ หลังได้ใบประกาศนียบัตร ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1

error: Content is protected !!