“ฟู้ด อิน ทัช” AI ทำนายแคลอรี่อาหารจากภาพถ่าย ผลงานนักศึกษา SIT มจธ.

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นางสาวสุกัญญา ชินวิชา (ฝ้าย) และนายธีรภัทร เนียมหอม (ไปซ์) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงการแข่งขัน โครงการ Super AI Engineer Season 2 ซึ่งทั้งคู่ได้รับรางวัลเหรียญทอง ประเภทบุคคล ว่า เป็นโครงการที่พัฒนาบุคลากรทางด้าน AI เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจในยุคดิจิทัล ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการฝึกอบรมในรูปแบบ Online และ Onsite โดยเน้นการฝึกปฏิบัติจริง ผู้อบรมจะได้รับความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูง สามารถนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปต่อยอด แก้ปัญหา ออกแบบ วิจัย ทั้งเชิงวิชาการ และเชิงธุรกิจ

ทั้งนี้ กิจกรรมในโครงการ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยช่วงที่ 1 อบรมพื้นฐานและทฤษฎีด้าน AI แบบ Self-learning เรียนผ่านระบบ Online ช่วงที่ 2 อบรมหลักสูตร AI ขั้นสูง เป็นการเข้าค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้ง Online และ Onsite เน้นเสริมทักษะการวางแผน, การออกแบบ, การวิเคราะห์, การสร้างระบบ และ ซอฟต์สกิล ทำงานกลุ่มและงานเดี่ยว เพื่อเสริมความรู้ความสามารถ และเพิ่มประสบการณ์ การแก้ปัญหาด้าน AI จากโจทย์จริงขององค์กร โดยเน้นทักษะ 5 ด้าน ได้แก่ การประมวลผลภาพ, การประมวลผลสัญญาณ,การประมวลผลและการเข้าใจภาษาธรรมชาติ, การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่, อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งและหุ่นยนต์ ช่วงที่ 3 เป็นการทำงานสาขาปัญญาประดิษฐ์ในสถานประกอบการ ระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน โดยทางโครงการจะจัดหา ติดต่อ ประสานงานกับองค์กรหรือสถานประกอบการต่าง ๆ ซึ่งการทำงานจะต้องเป็นโจทย์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์

โดยทั้งคู่เลือกฝึกงานใน บริษัท ทัชเทคโนโลยี จำกัด ใช้โจทย์การจัดทำแอปพลิเคชันที่ใช้ชื่อว่า “ฟู้ด อิน ทัช” มีลักษณะการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ภายใต้แนวคิด “นับแคลอรี่ในอาหารจานเราจากภาพถ่ายเราเอง” โดยเน้นภาพที่อาหารไทยเป็นหลัก

นายธีรภัทร เนียมหอม เล่าว่า แอปพลิเคชันดังกล่าว เป็นโจทย์ที่ทั้งคู่ทำร่วมกัน แบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 1. การทำนายว่าอาหารในจานนั้นชื่ออะไร 2. การใช้ AI เข้ามาจับภาพวัตถุดิบในแต่ละส่วนของอาหาร 3. การนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผล เพื่อหาปริมาตรและเทียบความหนาแน่นของน้ำหนัก

ส่วนที่ผมทำหลังจากถ่ายภาพอาหารไปแล้ว เป็นการหาวัตถุดิบในอาหาร จากนั้นนำ AI มาตอบให้ได้ว่า ในจานนี้มีวัตถุดิบอะไรบ้าง เช่น มีไก่ ไข่ แตงกวา แล้วใช้ AI บอกว่าไข่อยู่ตรงไหนในภาพ นึกภาพเหมือนเราระบายสี ตรงไหนคือไก่ ตรงไหนคือไข่ ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะเราต้องการหา ไม่เพียงแค่วัตถุดิบที่เรากินเข้าไป แต่เราต้องหาว่าน้ำหนักของแต่ละวัตถุดิบมีกี่กรัม เพื่อนำมาคำนวณแคลอรี่ทางวิชาการ จากนั้นจึงส่งต่อไปยังการประมวลผล เพื่อคำนวณหาปริมาตรต่อไป”

ส่วนการนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อหาปริมาตร และเทียบความหนาแน่นของน้ำหนัก เป็นโจทย์ที่ สุกัญญา ต้องรับช่วงต่อ โดยเป็นการนำข้อมูลทั้งหมด มาวิเคราะห์ทั้งการหาความลึก และสัดส่วนว่าอาหารแบบนี้ต้องทำนายอย่างไร ซึ่ง สุกัญญา ยอมรับว่า อาหารไทยมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตน้อยมาก ไม่เพียงพอที่จะนำมาปรับใช้ได้มากนัก ซึ่งข้อจำกัดตรงนี้ ทำให้ทีมงานต้องปรับเปลี่ยนการทำงานในเรื่องข้อมูลอาหารไทยที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่การต่อยอดทำแอปพลิเคชันในอนาคต

“สำหรับการต่อยอด เราจะรวบรวมข้อมูลที่ทำมาทั้งหมด เพื่อเทรนด์ให้กับโมเดลในแอปพลิเคชัน จะช่วยให้โมเดลฉลาดยิ่งขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถใช้งานในการหาค่าโภชนาการได้แม่นยำมากขึ้น โดยไม่จำกัดวัตถุดิบ ซึ่งคาดว่าภายในต้นปีหน้าจะสามารถพัฒนาต่อยอดระบบนี้ได้สำเร็จ นำไปสู่การใช้งานจริง”

อย่างไรก็ตาม สุกัญญา ยังฝากทิ้งท้ายว่า ทักษะทางด้าน AI ถือเป็นทักษะเบื้องต้นที่ทุกคนควรเรียนรู้ ขณะเดียวกัน การได้เข้าร่วมในโครงการนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ท้าทายมาก เพราะเป็นการทำงานร่วมกับคนอื่น ได้เรียนรู้ถึงการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ และการบริหารงานในลักษณะธุรกิจที่ต้องต่อยอด เช่นเดียวกับ ธีรภัทร ที่ระบุว่า ปัจจุบันเทคนิคทางด้าน AI สามารถตอบโจทย์ธุรกิจในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ประสบการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนที่คุ้มค่ามาก หากมีการต่อยอดหรือศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต จะมีการพัฒนาระบบที่มีศักยภาพยิ่งขึ้น

RANDOM

บริษัท น้ำมันปิโตรเลียมไทย จำกัด ให้ทุนการศึกษาให้นิสิต นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีความประพฤติดี ปีการศึกษา 2566 จำนวน 20 ทุน ยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – 31 มกราคม 2567

error: Content is protected !!