ม.อ.ปัตตานี เปิด Patanista Academy ดันจ.ปัตตานีเป็นศูนย์กลางแฟชั่น ส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดตัว สถาบันออกแบบแฟชั่น Patanista Academy หวังปั้นจังหวัดปัตตานีเป็นศูนย์กลางธุรกิจสินค้าแฟชั่น หนุนการส่งออกสินค้าสู่ตลาดอาหรับ

ผศ. ศิริชัย พุ่มมาก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้เปิดตัว สถาบันออกแบบแฟชั่น Patanista Academy ณ ลานศิลปวัฒนธรรม ถนนสายบุรี อำเภอเมืองปัตตานี และ ศูนย์ ม.อ.ปัตตานีภิมย์ ถนนปัตตานี ย่านเมืองเก่า อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อเป็นจุดประสานงานกับชุมชนและผู้ประกอบการชุมชนเข้าถึงโครงการได้ง่าย และ อาคารปฏิบัติการ ของ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นจุดฝึกทักษะ โดยภายหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการ จะสร้างเครือข่ายคลัสเตอร์ทำงานร่วมกัน ทั้งกลุ่มผลิตผ้า กลุ่มแปรรูป และนักออกแบบรุ่นใหม่ โดยสร้างพาร์ทเนอร์ทั่วประเทศ เช่น ศูนย์ส่งเสริมการออกแบบ TCDC สถาบันสิ่งทอ และแผนงานระยะสุดท้าย คือ จัดเฟสติวัล เช่น Pattani Fashion Week

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวคอลเลคชั่นในแฟชั่นโชว์ The Rise of Patanista ออกแบบและตัดเย็บโดยทีมงาน ดร.ปรรณกร แก้วรากมุข สาขาวิชาเอกออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยใช้ผ้าพื้นถิ่นที่ผลิตโดยชาวบ้านจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดปัตตานี จำนวน 17 ชุด และจัดให้มีการเดินแฟชั่นโชว์อีกด้วย

“ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี มีเป้าหมายต้องการผลักดันให้ผ้าพื้นบ้านของจังหวัดปัตตานีก้าวสู่ระดับสากล และขับเคลื่อนจังหวัดปัตตานีให้เป็นศูนย์กลางการทำธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อส่งออกสินค้าหลากหลายชนิด สร้างรายได้ชุมชนในพื้นที่ โดยศาสตร์ด้านศิลปกรรมมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจในพื้นที่อยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการแฟชั่นที่มีศักยภาพสูง และโอกาสสร้างรายได้จากการออกแบบเสื้อผ้า เพื่อส่งออกไปยังตลาดอาหรับ” ผศ. ศิริชัย กล่าว

ด้าน ดร.ปรรณกร แก้วรากมุข อาจารย์ประจำเอกแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งเป้าสร้างเมืองปัตตานีให้เป็นเมืองแฟชั่นที่โดดเด่นเรื่องผ้าบาติก สิ่งสำคัญต้องทำ 3 ประเด็น คือ โครงการพัฒนาคนเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่และผลักดันให้ปัตตานีเป็นเมืองที่มีความเป็นแฟชั่นหรือโดดเด่นเรื่องแฟชั่นผ้าบาติกตอบสนองกับภูมิภาค โดยพัฒนาสินค้าแฟชั่นมุสลิม ทั้งกระบวนการผลิตและพัฒนาการนำเสนอสินค้า เพื่อส่งออกพื้นที่เป้าหมายอย่างตะวันออกกลาง

“เหตุผลที่เลือกผ้าบาติกปัตตานี เพราะโครงการ Pattani Heritage เก็บข้อมูลเรื่องผ้าบาติกมากพอสมควร พบว่า ผ้าบาติกปัตตานีมีความเฉพาะ โดดเด่น และคนพื้นที่คุ้นเคย มีกลุ่มผลิตผ้าหลายร้อยกลุ่ม มีกลุ่มแปรรูปผ้า สิ่งที่ต้องทำต่อ คือ ต้องทำให้ผ้าบาติกสู่แฟชั่นสากล” ดร.ปรรณกร กล่าว

RANDOM

NEWS

สอศ. ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิด ‘ห้องปฏิบัติการภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลก’ ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนุนสร้างแรงงานคุณภาพสมรรถนะสูง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน

กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนนักออกแบบ ผู้ประกอบการ สมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2567 ‘Design Excellence Award 2024’ (DEmark) จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์ อย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 3 มิถุนายน 2567

error: Content is protected !!