อาชีวะ ร่วมมือ สพฐ. จัดการเรียนการสอนวิชาชีพระยะสั้น แบบสะสมหน่วยกิต เทียบโอนรายวิชาในหลักสูตร ปวช. ได้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือในกิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอนวิชาชีพระยะสั้น แบบสะสมหน่วยกิต (KUSOOM Credit Bank) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เทียบโอนรายวิชาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระหว่าง วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี กับ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 4 และโรงเรียนเอกชนในอำเภอปากช่อง ประจำปี 2565 ที่ หอประชุม วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี จ.นครราชสีมา เมื่อเร็ว ๆ นี้

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การจัดการศึกษาในปัจจุบันมีรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก การสะสมหน่วยการเรียนรู้ในด้านของการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ เป็นการปลดล็อกการเรียนรู้ โดยให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีทางเลือกในการเรียนที่หลากหลาย ตามความถนัดและความชอบของตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มีความสุขและมีความหมาย จึงเป็นที่มาของการสร้างความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 4 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครรราชสีมา และโรงเรียนเอกชนในอำเภอปากช่อง ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโครงการการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ธนาคารสะสมเครดิต (KUSOOM CREDIT BANK) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่มีการเทียบโอนรายวิชาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) นอกจากเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้ที่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ นอกจากจะได้ความรู้ที่มีประโยชน์แล้ว ยังได้เครดิตแบงก์สำหรับการเทียบโอนหน่วยกิตด้วย นับเป็นโครงการที่ให้ความก้าวหน้ากับนักเรียน ตอบโจทย์แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา คือ ให้เด็กได้ทำตามความถนัดและความสนใจ สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการ กพฐ. ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่เน้นสมรรถนะผู้เรียนครบทุกมิติ สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กไทย ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต”

ด้าน ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี กล่าวเสริมว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 โดยมีนักเรียนที่ผ่านการเรียนหลักสูตรระยะสั้น 30 ชั่วโมง กว่า 3,000 คน ซึ่งจากการสอบถามผู้บริหารทราบว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ได้ทราบตัวตน และมีอัตราการเรียนต่อสายอาชีพมากขึ้น สำหรับในปีการศึกษา 2565 วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี ได้ปรับการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาชีพระยะสั้น แบบสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เทียบโอนรายวิชาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) กับ โรงเรียนในสังกัด สพป.นครราชสีมา เขต 4 และโรงเรียนเอกชนในอำเภอปากช่อง ประจำปี 2565 โดยมีกระบวนการที่ชัดเจนสอดคล้อง เชื่อมโยงระบบการเทียบโอนระหว่าง สพฐ. และ สอศ. ได้ครอบคลุม

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3qE4O0E

 

RANDOM

NEWS

สอศ. ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิด ‘ห้องปฏิบัติการภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลก’ ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนุนสร้างแรงงานคุณภาพสมรรถนะสูง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน

กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนนักออกแบบ ผู้ประกอบการ สมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2567 ‘Design Excellence Award 2024’ (DEmark) จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์ อย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 3 มิถุนายน 2567

error: Content is protected !!