ครม. เห็นชอบโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” รองรับนักเรียนตกหล่นจากระบบการศึกษา และผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 65 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ในสถานศึกษาของรัฐ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 88 แห่งทั่วประเทศ รองรับนักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล จำนวน 5,280 คน สถานศึกษา 88 แห่ง แห่งละ 60 คน

ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย และส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาศักยภาพกำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมด้านคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียนสายอาชีพ ที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้มีทักษะวิชาชีพ สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณผู้เรียน สร้างทางเลือกสำหรับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่มีความสนใจในการเรียนต่อสายอาชีพให้เข้าสู่การศึกษาระดับอาชีวศึกษา และเมื่อนักเรียนจบการศึกษาแล้วจะได้รับวุฒิการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และสามารถสร้างความมั่นคงในการประกอบวิชาชีพได้ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาสายอาชีพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีสถานศึกษาเข้าร่วม 88 แห่ง คือ วิทยาลัยเทคนิค 2 แห่ง วิทยาลัยการอาชีพ 39 แห่ง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 47 แห่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา (หลังสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3) และเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยมีแผนการรับนักเรียนเข้าศึกษา รุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 1/2565 จำนวน 5,280 คน ในสถานศึกษา 88 แห่ง แห่งละ 60 คน

ซึ่งประโยชน์ของโครงการดังกล่าว เยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา มีฐานะยากจน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงนักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา จะได้รับการสนับสนุนทางด้านการศึกษาสายอาชีพ พัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ สามารถประกอบอาชีพมีงานทำ และมีรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เน้นการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น

ทั้งนี้ หากสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนที่มีศัยภาพและมีความพร้อมในการดำเนินการ สามารถดำเนินโครงการได้เอง และในกรณีที่สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนจะเข้าร่วมโครงการฯ สอศ. จะมีหลักเกณฑ์ในการตรวจประเมินความพร้อม เช่น มีความพร้อมของหอพัก และสิ่งอำนวยความสะดวกในสภาพที่ดี เป็นสถานศึกษาเอกชนที่มีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการฯ และประสบความสำเร็จมาก่อน มีความพร้อมด้านบุคลากรที่จะรองรับการดำเนินโครงการฯ เป็นต้น และเมื่อสถานศึกษาเอกชนผ่านหลักเกณฑ์การตรวจประเมินดังกล่าวแล้ว จะสามารถเข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ และได้รับค่าจัดการเรียนการสอน (เงินอุดหนุนรายหัวสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของนักเรียน) เหมือนของรัฐ ซึ่ง ศธ. (สอศ.) ได้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศธ. จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในส่วนของสถานศึกษาเอกชนต่อไป

RANDOM

NEWS

“ครูมวยไทย” เนื้อหอม เตรียมเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมส่งเสริมกีฬามวยไทย ที่ซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง 7-9 พ.ค.นี้ หลังได้ใบประกาศนียบัตร ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!