ทำความรู้จัก “โครงการโรงเรียนคุณภาพ” ยกระดับมาตรฐานในทุกมิติ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

“โครงการโรงเรียนคุณภาพ” เป็นนโยบายสำคัญของการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งหวังให้โรงเรียนได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพเเละปลอดภัย โดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้ดำเนินการโดยพัฒนาต่อยอดจากโครงการเดิมคือ โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียนที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ (Stand Alone)

โดยได้กำหนดทิศทางขับเคลื่อนโครงการ ภายใต้จุดเน้น 7 ด้าน ดังนี้ 1.ความปลอดภัยของผู้เรียน 2.ระบบประกันคุณภาพ 3.การพัฒนาครู 4.การเรียนการสอน 5.การวัดและประเมินผล 6.การนิเทศกำกับและติดตาม 7.Big Data

หากกล่าวถึงทิศทางการพัฒนา สำหรับ โรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษา คือ โรงเรียนประถมศึกษา หรือโรงเรียนขยายโอกาส ที่มีความพร้อมและเหมาะสม มีโรงเรียนเครือข่ายโดยรอบ สามารถนำนักเรียนมาเรียนรวม เพื่อยกระดับคุณภาพให้เกิดความมั่นใจต่อชุมชน และผู้ปกครอง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแชร์ทรัพยากรร่วมกัน โรงเรียนคุณภาพระดับมัธยมศึกษา คือ โรงเรียนที่เปิดสอน ม.1-6 มีความพร้อมรองรับโรงเรียนประถมศึกษาที่จะมาเรียน และรับนักเรียนขยายโอกาสที่จะมาศึกษาต่อ หรือมาเรียนรวม เป็นการแบ่งเบาภาระในการรับนักเรียนโรงเรียนแข่งขันสูงกลับสู่ชุมชน และ โรงเรียนคุณภาพเเบบ Stand Alone คือ โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร พื้นที่สูง บนเกาะ หรือการคมนาคมไม่สะดวก ทำให้นักเรียนไม่สามารถไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่นได้

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ นั้น เริ่มตั้งแต่ เพิ่มจำนวนครูให้ครบชั้น ครบวิชาเอก
มีจำนวนนักเรียนที่เหมาะสม มีงบประมาณเพียงพอในการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรและชุมชนได้ นอกจากนี้ยังมีอาคารสถานที่ปลอดภัย มีครุภัณฑ์ อุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และทันสมัย เน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ลดอัตราการแข่งขัน กรณีที่เป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ต้องให้โรงเรียนสามารถดำรงอยู่ได้ โดยมีงบประมาณและอัตรากำลังครูอย่างเหมาะสม

โดยทาง ศธ. ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายโรงเรียนคุณภาพ เป็นโรงเรียนระดับประถม 10,480 โรง ระดับมัธยม 1,155 โรง โรงเรียน Stand Alone 1,303 โรง รวมทั้งสิ้น 12,938 โรง โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ ๆ ละ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการพัฒนา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นั้น ได้จัดทำ MOU ระหว่างโรงเรียนหลัก ร่วมกับ โรงเรียนเครือข่าย และระหว่าง สพท. กับ โรงเรียนคุณภาพ รวมทั้งกำหนดแนวทางการรองรับนักเรียนเพื่อส่งต่อต่างระดับ มีการจัดสรรงบลงทุน ครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จำนวนเงิน 1,967,987,000 บาท
รวมทั้ง การคัดเลือกโรงเรียนคุณภาพที่มีความพร้อมแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแบบอย่างของความสำเร็จ และการจัดสร้างบ้านพักครูของโรงเรียนคุณภาพ อำเภอละ 1 แห่ง โดยสร้างชุมชนบ้านพักครูในโรงเรียนคุณภาพ (โรงเรียนหลัก) หรือ โรงเรียนเครือข่าย ที่สะดวกต่อการเดินทาง และปลอดภัยต่อการพักอาศัย อีกทั้ง สำรวจความต้องการบ้านพักครูทั่วประเทศ เพื่อจัดทำแผนการสร้างชุมชนบ้านพักครู โดยจะดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพในจังหวัดสระแก้ว เป็นต้นแบบจังหวัดนำร่อง “สระแก้วโมเดล” เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับจังหวัดอื่น ๆ ในการดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม โครงการโรงเรียนคุณภาพอาจไม่ใช่โครงการใหม่ถอดด้าม แต่เป็นการพัฒนาต่อยอดจากโรงเรียนคุณภาพเดิม ซึ่งได้มีการดำเนินการภายใต้ชื่อและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่ความมุ่งหมายสำคัญของการดำเนินการในครั้งนี้ คือ การวางทิศทางการพัฒนาในระยะยาวถึง 4 เฟส ใช้เวลาต่อเนื่องเกือบ 20 ปี และเชื่อมั่นว่าทิศทางดังกล่าวสามารถดำเนินโครงการต้นแบบในเฟสที่ 1 เป็นตัวอย่างให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ด้วยหวังว่าผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลในยุคต่อไปจะขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่วันหนึ่งโรงเรียนทุกโรงของประเทศไทยจะพลิกโฉมจากเดิม ไปเป็นโรงเรียนรูปแบบใหม่ที่มีความสมบูรณ์แบบ พร้อมให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กและเยาวชน

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!