“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กำจัดถูกวิธี ลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมระยะยาว

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

รู้หรือไม่ว่า การรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ถึง 12.6 กิโลกรัม หลายคนคงเคยเห็นการรณรงค์ร่วมบริจาคโทรศัพท์มือถือ แทปเลตที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำไปกำจัดด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในโครงการจุฬาฯ รักษ์โลก ซึ่งเป็นการลดและป้องกันปัญหาที่เกิดจากการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกวิธี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบจากสารตกค้าง เกิดการปนเปื้อนของโลหะหนักชนิดต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อสุขภาพตามมา

“ปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายของขยะอิเล็กทรอนิกส์ และมีความพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจนถึงการกำจัด” รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาฯ กล่าว

โครงการจุฬาฯ รักษ์โลกกับการช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์
การบริจาคโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก ร่วมกับ บริษัท Total Environmental Solutions จำกัด ได้เปิดรับบริจาคโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์เสริมเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งดำเนินการมากว่า 12 ปีแล้ว เป็นตัวอย่างการดำเนินการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้อง โดย ศูนย์ความเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชนและหน่วยงานที่สนใจ ส่งต่อให้บริษัทรับกำจัดและดำเนินการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกวิธี โดยการบริจาคโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต 1 เครื่อง เปลี่ยนเป็นเงิน 10 บาท บริจาคเข้า กองทุนภูมิคุ้นกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้นกัน

กระแสตอบรับโครงการจุฬาฯ รักษ์โลก
รศ.ดร.สุธา เปิดเผยว่า โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก เป็นกิจกรรมแรก ๆ ในการรวบรวมโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิลอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ความเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาฯ กับ ค่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ด้วยข้อจำกัดของศูนย์ฯ ในเรื่องพื้นที่ในการรวบรวม จึงไม่ได้ขยายงานต่อ แต่ในระยะ 2- 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนเริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ประกอบกับ ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการบริจาคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานให้เป็นกิจกรรมที่ใหญ่ขึ้น มีการรวบรวมโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปริมาณมากขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์กับผลกระทบที่เกิดขึ้น
รศ.ดร.สุธา ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ทั่วโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 53.6 – 54 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้มีประมาณ 18 % เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ส่วนในประเทศไทยก็มีปัญหาคล้าย ๆ กับในระดับโลก คือ เรามีของเสียอันตรายชุมชน ประกอบด้วย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปร์ยต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยประมาณ 4 แสนตันต่อปี และมีการกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพียงแค่ร้อยละ 20 ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตของเราที่มีแนวโน้มการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระยะเวลาที่สั้นลง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า มีการเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบ 2 ด้าน คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีโลหะชนิดต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบ มีโอกาสที่จะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวโลหะต่าง ๆ ที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่า สามารถนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตต่อไปได้ หากได้รับการจัดการหรือผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธี.

สังคมไทยรู้จักการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มากน้อยแค่ไหน
เมื่อประเมินจากแบบสอบถามที่ทำการศึกษาในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่าที่ควร มีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมกับขยะทั่วไป หรือบางครั้งก็ไม่นำไปทิ้ง แต่เก็บไว้ในบ้าน ในปีที่ผ่านมาได้มีการสำรวจประชาชน 2,000 คน พบว่า ขยะชิ้นเล็ก เช่น โทรศัพท์มือถือ เมื่อเลิกใช้แล้วเป็นขยะ ส่วนหนึ่งก็จะถูกทิ้งไป แต่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 35 – 40 ที่เก็บโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วไว้ในบ้าน ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อหมดอายุก็จะขายไป ยังมีประมาณร้อยละ 15- 20 ที่เก็บไว้ที่บ้าน เมื่อเวลาผ่านไปก็จะทิ้งปะปนไปกับขยะทั่วไป นำไปสู่เส้นทางของการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง

ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาฯ กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ยังเป็นร่าง พ.ร.บ. อยู่ เพราะมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดการขยะค่อนข้างมาก เช่น ผู้รับซื้อของเก่า อบต. กทม.ฯลฯ รวมถึงมีสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ. ที่ควรพิจารณา เช่น กระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการกำจัดอย่างไร ชิ้นส่วนต่าง ๆ ดำเนินการไปทิ้งที่ใด มีการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ฯลฯ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดอยู่ เพื่อให้ พ.ร.บ. ที่ออกมาสามารถควบคุมระบบบริหารจัดการตรวจสอบได้

กิจกรรมที่น่าสนใจของโครงการจุฬาฯ รักษ์โลก
โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก เน้นการดำเนินงานในภาคีเครือข่ายและองค์กรที่สนใจ ด้วยการเผยแพร่ความรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวประชาสัมพันธ์กิจกรรมเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์และส่งไปจัดการได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย ยังได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัยภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายทั้งในและนอกจุฬาฯ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ให้เกิดความสมดุลในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พัฒนาขีดความสามารถที่มีส่วนได้ส่วนเสียและเป็นแหล่งพึ่งพิงด้านการจัดการสารและของเสียอันตรายได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ครบวงจร

ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในเรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ เริ่มต้นจากการคัดแยกขยะ มีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง โดยสามารถนำโทรศัพท์มือถือและซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว ส่งมาที่ โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2218-3959

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!