กรุงเทพธนาคม จับมือ มจธ. วิจัยเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในคลองผดุงกรุงเกษม หลังกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ตามที่ กรุงเทพมหานครมีนโยบายกลับมาเปิดให้บริการเดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) ในคลองผดุงกรุงเกษมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา หลังจากเปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อกลางปี 2563 และได้หยุดให้บริการไป เมื่อช่วงปลายปี 2565 โดยมอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อมีนโยบายให้บริการเรือไฟฟ้าในคลองผดุงกรุงเกษมอีกครั้ง บริษัทจึงได้ทำการสำรวจเรือเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการ พร้อมทั้งทำการซ่อมบำรุงให้เรืออยู่ในสภาพสมบูรณ์ และพร้อมให้บริการ โดยเบื้องต้นได้ขอรับคำปรึกษาจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พบว่า ระบบกักเก็บพลังงาน หรือ แบตเตอรี่ของเรือนั้นเสื่อมสภาพ ไม่สามารถอัดประจุ และจ่ายพลังงานไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนเรือได้ และจำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ชุดใหม่เข้ามาทดแทน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรอบคอบ คุ้มค่า และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะให้แก่เรือ จึงจำเป็นจะต้องทำการศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางวิศวกรรม เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการใช้งาน ดูแลรักษาซ่อมบำรุงเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบขับเคลื่อน และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (แบตเตอรี่) ของเรือ รวมทั้ง แนวทางในการลดค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ เพื่อการให้บริการประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

จึงเป็นที่มาของพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะของเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ขึ้น เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้อง X01 อาคาร KX ถนนกรุงธนบุรี โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท , รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมลงนามในครั้งนี้

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเรือโดยสารไฟฟ้ายังคงให้บริการประชาชน โดยใช้งบประมาณการเดินเรือของ กทม. มีเรือที่เปิดให้บริการอยู่จำนวน 7 ลำ ระยะทาง 5.5 กม. จำนวน 11 ท่า เส้นทางจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ถึง ท่าเรือตลาดเทวราช โดยยังไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่ง กทม. มีนโยบายลดต้นทุนด้านงบประมาณ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของบริษัทที่จะต้องยกระดับการเดินทางของประชาชน ควบคู่กับ การลดงบประมาณการบริหารจัดการ ทางบริษัทจึงได้ขอคำปรึกษาด้านเทคนิค และแนวทางการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการเดินเรือไฟฟ้า จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ และยังมีความโดดเด่นด้านการวิจัยและการบริการวิชาการแก่ภาครัฐและภาคเอกชน ในการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่มาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อให้การเดินเรือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการให้บริการ สมรรถนะของเรือ และวิธีการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าขับเคลื่อน และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า หรือ แบตเตอรี่ ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงร่วมมือกันเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว และได้จัดทำบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายต่อจากนี้ไป

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. มีผู้เชี่ยวชาญและผลงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีเครื่องมือและอุปกรณ์รองรับการเรียนการสอน การทดสอบ และการทดลองอย่างเพียงพอ จึงมีศักยภาพทั้งในแง่ของบุคลากรและสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ที่จะสามารถดำเนินการด้านการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะของเรือไฟฟ้าโดยสารของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแนวทางการดำเนินงานในระยะแรกนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มานนท์ สุขละมัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาครุศาสตร์เครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. กล่าวว่า เบื้องต้นมหาวิทยาลัยจะทำการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้พลังงานของแบตเตอรี่ชุดใหม่ ที่ทางบริษัทได้จัดซื้อมาใช้ทดแทนแบตเตอรี่เดิมที่เสื่อมสภาพ โดยจะเน้นการบริหารจัดการเรื่องการใช้พลังงาน หาวิธีในการควบคุมอุณหภูมิที่สูงภายในห้องเก็บแบตเตอรี่ และการดูแลบำรุงรักษา ทำอย่างไรที่จะยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น โดยยังมีนักวิจัยท่านอื่น ๆ ร่วมทีม อาทิ ผศ.ดร.ดนัย เผ่าหฤหรรษ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผศ.ดร.สุจินต์ จิระชีวะนันท์ และ นายจักรพันธุ์ มีอาษา จากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี โดยภายใน 6-8 เดือนนี้ คณะวิจัยจะทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเพื่อหาพารามิเตอร์ที่เหมาะสมของแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน (Li-ion) ที่ใช้กับเรือพลังงานไฟฟ้า รวมถึงข้อมูลทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับชุดต้นกำลังแบบมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการเดินเรือ และวิเคราะห์หาวิธีการปรับปรุงเรือที่เหมาะสมสำหรับการยืดอายุการใช้งาน หรือ การดูแลรักษาแบตเตอรี่ นอกจากนี้ จะทำการศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดวิธีการหรือแนวทางในการใช้งานและการดูแลรักษา ซ่อมบำรุงที่เหมาะสมสำหรับเรือไฟฟ้าโดยสารในคลองผดุงกรุงเกษมต่อไป

RANDOM

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประกวดออกแบบมาสคอต ภายใต้ชื่อ “บีซีจีฮาย (BCGhy)” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สินค้า BCG เพิ่มศักยภาพการแข่งขันเชิงพาณิชย์สินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น

NEWS

อาจารย์วิศวฯ จุฬา เผย ‘โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์’ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นพลังงานสะอาด ช่วยโลกลดการปลดปล่อยก๊าซ CO2 จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ของประเทศ

error: Content is protected !!