กรมศิลปากร ส่งมอบคัมภีร์ใบลานวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จำนวน 894 รายการ (ผูก) พร้อมขยายเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์รักษาเอกสารโบราณเพิ่มเติม

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวส่งมอบผลงานการอนุรักษ์จัดเก็บคัมภีร์ใบลานวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จำนวน 894 รายการ (ผูก) พร้อมหนังสือบัญชีทะเบียนคัมภีร์ใบลาน และมอบเกียรติบัตรแก่อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร โดย สำนักหอสมุดแห่งชาติ ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่าง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กับ กรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์จัดเก็บคัมภีร์ใบลานวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม ถึง 21 มีนาคม 2567 ระยะเวลา 2 เดือน ทำการอนุรักษ์จัดเก็บคัมภีร์ใบลาน จำนวน 894 รายการ (ผูก) โดยบูรณาการประสานความร่วมมือระหว่าง กรมศิลปากร คณะสงฆ์ และ ประชาชน สร้างการรับรู้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) เพิ่มขึ้น จำนวน 7 รูป/คน ความสำเร็จของการดำเนินงานครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความมั่นใจในการเป็นผู้นำการอนุรักษ์ให้กับประชาชน และสร้างการรับรู้แบบตรงไปตรงมาแก่ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดเอกสารโบราณ โดยมีวัดเป็นแหล่งเอกสารโบราณ และคณะสงฆ์เป็นผู้เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ไว้ สรุปผลความสำเร็จของการดำเนินงาน ดังนี้

1. กรมศิลปากร อนุรักษ์จัดเก็บ และจัดทำทะเบียนคัมภีร์ใบลาน ซึ่งเป็นการจัดระบบคัมภีร์ใบลาน เพื่อให้บริการตามหลักวิชาการ ออกเลขทะเบียนบัญชีรายชื่อคัมภีร์ใบลานจำนวน 67 มัด มีเลขทะเบียน 144 เลขที่ รวมทั้งสิ้นจำนวน 894 ผูก ถือว่าเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้กลางกรุงที่สำคัญ

2. ความสำคัญของคัมภีร์ใบลาน เทียบเท่า ความสำคัญของวัด ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 เนื่องจากเป็นคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎก ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวังมาแต่เดิม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จึงถือว่าเป็นคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกฉบับหลวง ประจำรัชกาลที่ 4 ด้วยเช่นกัน ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้อัญเชิญคัมภีร์พระไตรปิฎกชุดนี้ มาประดิษฐาน ณ วัดราชประดิษฐฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น

3. จากการสำรวจ อนุรักษ์ จัดเก็บ พบว่า มีคัมภีร์ใบลานฉบับทรงสร้างซ่อมเติมเต็มฉบับที่หายไปในรัชกาลก่อน ซึ่งในแหล่งเอกสารโบราณวัดราชประดิษฐฯ นี้ รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างซ่อมคัมภีร์บางฉบับที่หายไปในรัชกาลที่ 4 เพื่อทำให้สมบูรณ์เต็มชุด จึงเรียกว่า คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงทรงสร้างซ่อม หรือ คนทั่วไป เรียกว่า คัมภีร์ใบลาน 2 รัชกาล เนื่องจากมีตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4 อยู่ด้านซ้าย และตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 5 อยู่ด้านขวา ของ ปกคัมภีร์ใบลาน โดยสรุปมีคัมภีร์สำคัญ ได้แก่ วรด.1-3 (วัดราชประดิษฐฯ เลขที่ 1-3)

เรื่อง อนาคตวังสะ สมัยรัชกาลที่ 4 อายุประมาณ 170 ปี, วรด.14,17,28-32,83,98 (วัดราชประดิษฐฯ เลขที่ 14,17,28-32,83,98) เรื่อง วังสมาลินี, อรรถกถาสังยุตตนิกาย, ฎีกามหาวงศ์, โยชนาอภิธัมมัตถสังคหะและปุคคลบัญญัติ ฉบับหลวงสร้างซ่อม รัชกาลที่ 5 อายุ 139 ปี

4. คัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 ได้รับการอนุรักษ์จัดเก็บอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ โดยใช้ไม้ประกับประกบด้านข้างของคัมภีร์ เพื่อเป็นการรักษาทรงไม่ให้โค้งงอ ส่วนกล่องบรรจุคัมภีร์ที่มีมาแต่เดิม จำนวนทั้งสิ้น 87 กล่อง ถือเป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ เพราะสร้างโดยประณีตศิลป์ เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ มีข้อความจารึกฝังที่สันกล่อง ระบุปี จ.ศ.1247 (พ.ศ.2428) กล่องประณีตศิลป์นี้ จึงมีอายุอย่างน้อย 139 ปี จึงถ่ายโอนภารกิจนี้ให้กับ สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการอนุรักษ์ซ่อมแซมต่อไป

5. ขยายเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์รักษาเอกสารโบราณเพิ่มเติมจากปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา โดยการอบรมจัดตั้งสมาชิก (อส.มศ.) ตามหลักสูตรอบรม จัดตั้งเป็นเวลา 2 วัน มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 7 รูป/คน จึงถือเป็นการร่วมมือระหว่าง วัด กรมศิลปากร และ ภาคส่วนประชาชน เป็นอย่างดี ตามโครงการความร่วมมือระหว่างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กับ กรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์จัดเก็บคัมภีร์ใบลานวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมให้แก่คณะสงฆ์และประชาชนเพิ่มขึ้น

RANDOM

NEWS

error: Content is protected !!