ซีเกมส์ครั้งที่ 32 กำหนดมาแล้วชิง 583 เหรียญทอง ไทยหวังเบื้องต้นแค่ 164 เหรียญเท่านั้น

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

 การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกชนิดกีฬา นักกีฬา และเจ้าหน้าที่ประจำทีม ส่งไปร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2566 โดยมีพลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคไทยฯ ประธานกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นตัวแทนมนตรีซีเกมส์ของไทย ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิคของไทย นายธนา ไชยประสิทธิ์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ และนายประชุม บุญเทียม รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย นำทีมงานจากการกีฬาแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุม
 โดยสรุปจากที่ประชุมดังนี้ ที่ประชุมรับทราบถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกชนิดกีฬา นักกีฬา และเจ้าหน้าที่ประจำทีมที่ส่งไปร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมทั้งการแต่งตั้งอาตาเช่ประจำทีมนักกีฬาไทย ซึ่งทางสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชาได้แต่งตั้งให้ นายรัฏฐาธิป พรหมแก้ว ตำแหน่ง เลขานุการเอกปฏิบัติหน้าที่อาตาเช่ ประจำทีมนักกีฬาไทย เพื่อประสานงานกับคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ และกำหนดการสำหรับพิธีเปิด-ปิดซีเกมส์หนนี้คือ พิธีเปิดการแข่งขันในวันที่ 5 พ.ค. 2566 พิธีปิดการแข่งขันในวันที่ 17 พ.ค. 2566 ณ Morodok Techo Stadium กรุงพนมเปญ

 ในด้านความคืบหน้าของชนิดกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 โดยข้อมูลจาก NOC Relations ที่ทางเจ้าภาพแจ้งมาล่าสุดนั้น ชนิดกีฬาที่บรรจุในการแข่งขันซีเกมส์หนนี้จะมี จำนวน 36 ชนิดกีฬา และรวมแล้วจะแข่ง 583 ประเภท  (ซึ่งการกำหนดประเภทกีฬา ที่ถือเป็นการกำหนดจำนวนเหรียญทองนี้ จะต้องดูเมื่อถึงวันที่ทุกชาติจะส่งรายชื่อนักกีฬาอีกครั้งว่ามีครบตามจำนวนที่กติกาการจัดแข่งขันกำหนดแต่ละประเภทหรือไม่ จึงจะทราบว่าจะมีการตัดประเภทหรือเหรียญทองใดออกไปอีกหรือไม่ จึงจะถือเป็นข้อสรุปจำนวนการชิงเหรียญทองที่แท้จริง) ในส่วนของการเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬาไทย และมีความคาดหวังถึงเหรียญรางวัลประเภท กีฬาสากลและกีฬาทั่วไป ที่ส่งแข่งนั้นน่าจะได้อยู่ที่  164 เหรียญ นอกจากนี้

 ยังมีการรายงานโดย กกท.ในเรื่องของการทดสอบสมรรถภาพของนักกีฬาที่ได้รับนโยบายจากประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทยว่าต้องเข้มข้นในการให้ความสำคัญนั้น ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา กกท.ได้แจ้งผลการทดสอบสมรรถภาพนักกีฬา โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 เดือนส.ค.- ธ.ค. 2565 ช่วงที่ 2 เดือน ม.ค. – ก.พ.2566 ซึ่งถือเป็นช่วงทดสอบที่สำคัญ เพราะจะนำผลการทดสอบไปพิจารณาการส่งชื่อนักกีฬาร่วมแข่ง (Entry Form by Name) หรือไม่ ซึ่งกำหนดไว้คือผลทดสอบนักกีฬาทุกคนที่จะส่งชื่อไปแข่งจะต้องมีผลการทดสอบอยู่ในเกณฑ์ดีและดีมากเท่านั้น จึงจะส่งชื่อเข้าแข่งขัน และช่วงที่ 3 ของการทดสอบ คือเดือนมี.ค. – 10 เม.ย.2566 ซึ่งผลที่คาดคือไม่แย่ไปกว่าครั้งที่ 2

 สำหรับในเรื่องของสารต้องห้ามทางการกีฬา ทางสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ได้เน้นดำเนินการให้ความรู้เรื่องสารต้องห้ามทางการกีฬาแก่นักกีฬาและบุคคลที่สนับสนุนการกีฬาที่เข้าร่ามการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.dcat.in.th

RANDOM

error: Content is protected !!