สถานีความคิด : คนท้องกับการออกกำลังกาย นักวิชาการคณะวิทย์กีฬา จุฬาฯ บอกว่าทำได้แต่ต้องอ่านที่นี่ก่อน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

คนท้องกับการออกกำลังกาย

ในระหว่างการตั้งครรภ์ผู้หญิงทุกคนต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและสรีรวิทยาของร่างกายนับตั้งแต่วันแรก และจะพบการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงสองไตรมาสสุดท้าย ส่งผลทำให้เกิดข้อจำกัดในระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงในขณะออกกำลังกาย

ในปัจจุบันการออกกำลังกายสำหรับคนท้องนั้นได้รับการแนะนำอย่างมากเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบการการทำงานของหัวใจและไหลเวียนเลือด การเสริมสร้างกล้ามเนื้อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ รวมไปถึงการลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์อีกด้วย คำแนะนำสำหรับคนท้องได้แก่การออกกำลังกายระดับเบาถึงปานกลาง ระยะเวลา 15-30 นาที จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ด้วยการปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือการวิ่งเยาะ โดยไม่ลืมการอบอุ่นร่างกายและการคลายอุ่นก่อนและหลังการออกกำลังกาย

ในระหว่างการออกกำลังกาย คนท้องควรสวมใส่ชุดที่เหมาะสมมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับท่าทางการเคลื่อนไหว ควรมีความกระชับช่วยรองรับโอบอุ้มหน้าท้องและทารกในครรภ์ได้เป็นอย่างดีแต่ไม่ควรรัดรูปหรือแน่นเกินไปซึ่งอาจจำกัดการเคลื่อนไหวของร่างกายและความรู้สึกไม่สบายตัวได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่ากางเกงออกกำลังกายสำหรับคนท้องได้รับการพัฒนาการออกแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการออกกำลังกายในขณะตั้งครรภ์ แต่คนท้องส่วนใหญ่ยังมีความกังวลในเรื่องของการโอบรัดกระชับสัดส่วน ซึ่งทำให้รู้สึกอึดอัด การกดทับจนจำกัดการไหลเวียนโลหิตและอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์

โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย การวิจัยก่อนหน้าพบว่ากางเกงออกกำลังกายสำหรับคนท้องที่มีการโอบอุ้มรองรับบริเวณหัวหน่าวในทิศทางเฉียงขึ้นด้านบนและไม่มีส่วนที่กดทับช่วงบนของหน้าท้องมีความเหมาะสมที่สุด โดยผลการวิจัยรายงานว่าการไหลเวียนโลหิตของคนท้องไตรมาสสุดท้ายจำนวน 12 คน ไม่ถูกจำกัดเมื่อสวมใส่กางเกงดังกล่าวในระหว่างการนั่ง การนอนตะแคง การนอนหงาย การยืนและการออกกำลังกาย เมื่อเปรียบเทียบกับการสวมใส่ชุดคลุมท้องแบบกระโปรง (JEPonline 2022)

การออกกำลังกายในระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลดีต่อคุณแม่ให้มีความแข็งแรงพัฒนาตามอายุครรภ์โดยไม่มีภาวะเสี่ยงแทรกซ้อน ทั้งนี้สามารถเลือกใช้กางเกงออกกำลังกายที่มีความเหมาะสม ยืดหยุ่นเพียงพอโดยไม่ต้องกังวลถึงการกดทับหรือผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์ได้.

 

ดร. คุณัญญา มาสดใส

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

RANDOM

พิพิธภัณฑ์ครุฑฯ จัดโครงการ “พิพิธภัณฑ์ครุฑ ร่วมปลูกฝัง สืบสาน ความซื่อสัตย์ กตัญญู และความดี สู่เยาวชน ครั้งที่ 2” เปิดให้ชมฟรี! หนุนเยาวชนตระหนักถึงหน้าที่พลเมืองดี มีศีลธรรม คุณธรรมในการดำเนินชีวิต รู้คุณค่าผืนแผ่นดินไทย

NEWS

error: Content is protected !!