ออกกำลังกายสู้โรคภัย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

 

ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น เชื้อไวรัสส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ทำให้เกิดปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย ไอแห้ง หรือมีเสมหะร่วมด้วย หลังจากผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการบรรเทาลงแล้ว จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด หัวใจ และการหายใจให้กลับมาทำงานได้ดีเหมือนปกติ ซึ่งการฟื้นฟูร่างกายสามารถทำได้ในขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) และหลังจากรักษาหายแล้ว จะสามารถเริ่มออกกำลังกาย ตามข้อบ่งชี้ ดังนี้

ไม่มีอาการเหนื่อยหรือเคยเหนื่อย แต่อาการหายไปเกิน 3 วัน 2) ไม่ได้อยู่ในช่วง 7 วันแรกของการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 3) ไม่มีไข้ในขณะที่ออกกำลังกาย (อุณหภูมิต่ำกว่า 38 องศาเซลเซียส) 4) หากวัดออกซิเจนบริเวณปลายนิ้วมือ ต้องเกิน 95% ขึ้นไป 5) ค่าความดันโลหิตต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยตัวบนอยู่ในช่วง 90-140 มม.ปรอท ตัวล่างอยู่ในช่วง 60-90 มม.ปรอท หากสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ดังกล่าว ไม่ควรออกกำลังกาย (แหล่งที่มา: บทความการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด หลังการติดเชื้อในผู้ป่วยโควิด-19)

การออกกำลังกายสำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเป็นประจำมาก่อนติดเชื้อ ควรเริ่มจากกิจกรรมที่ง่าย เช่น การเดินในจังหวะช้าถึงปานกลาง ขณะที่เดินสามารถหายใจได้อย่างปกติหรือสามารถพูดคุยได้อย่างปกติ และมีการกำหนดระยะเวลาของออกกำลังกายอย่างชัดเจนหรือเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละสัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น ตั้งเป้าหมายว่าต้องการเดินให้ได้ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ โดยเริ่มจาก สัปดาห์ที่ 1) เดิน 5-10 นาที 7 วันต่อสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 2) เดิน 10-15 นาที 7 วันต่อสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 3) เดิน 15-20 นาที 7 วันต่อสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 4) เดิน 20-25 นาที 7 วันต่อสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 5) เดิน 25-30 นาที 7 วันต่อสัปดาห์ และหลังจากสัปดาห์ที่ 5 เดิน 30 นาที 5-7 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

สำหรับคนที่เคยออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องหรือเคยออกกำลังกายอย่างหนักมาก่อนติดเชื้อ หลังจากอาการดีขึ้น หรือหายแล้ว ควรเริ่มออกกำลังกายจากเบาไปหาหนัก เช่น ปกติเคยวิ่งด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลา 1 ชั่วโมง อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นเดินเร็วหรือวิ่งด้วยความเร็ว 7-8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประมาณ 15-20 นาที และค่อย ๆ เพิ่มความเร็วและระยะเวลาการวิ่งมากขึ้น โดยสังเกตอาการขณะออกกำลังกายด้วย หากมีอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อย หายใจเร็ว แน่นหน้าอก ปวดหัวเวียนหัว ใจสั่น ตามัว เหงื่อออกมาก หรือหากออกกำลังกายแล้วรับรู้ได้ว่าเหนื่อยมากผิดปกติ ควรลดความหนักของการออกกำลังกายหรือหยุดออกกำลังกายทันที สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี หรือมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะการออกกำลังกายด้วยความหนักอาจเกิดความเสี่ยงได้

จากสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าโรคโควิด-19 แพร่กระจายมากขึ้น เพิ่มโอกาสการเสียชีวิต นอกจากการได้รับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค การออกกกำลังกายที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญในการลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) แนะนำให้มีการออกกำลังกายแบบมีการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยความหนักปานกลาง การเต้นของชีพจรอยู่ในช่วง 50-70% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (โดยใช้สูตรคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด = 220 – อายุ) อย่างน้อยอาทิตย์ละ 150-300 นาที พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบตามความต้องการของร่างกาย ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้อีกทางหนึ่ง

รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และรักษาระยะห่างทางสังคม สามารถลดความเสี่ยงของการติดโรคโควิด-19 ได้

RANDOM

NEWS

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับทุนวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ (รอบที่ 3) ประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งข้อเสนอโครงการได้ ตั้งแต่บัดนี้–31 พ.ค. 67

error: Content is protected !!