ตอนที่ 16 : ปรัชญาวัฒนธรรมทางกาย : หนังสืออุดมการณ์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง : แปลโดย : ดร.นิพัทธ์ อึ้งปกรณ์แก้ว

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ปรัชญาวัฒนธรรมทางกาย

            ในบทความนี้ คูเบอร์แต็งได้แสดงให้พวกเราเข้าใจถึงการตีความของท่านต่อปรัชญาวัฒนธรรมทางกายซึ่งบางส่วนเกี่ยวเนื่องกับจิตวิทยา วัฒนธรรมนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคติพจน์โบราณคือ “รู้จักตนเอง” (Know thyself) โดยท่านกล่าวว่า จุดแข็งด้านจิตใจและสติปัญญาต่อการพัฒนาร่างกายมนุษย์มีความหลากหลายอย่างยิ่งและจุดแข็งด้านสังคมคือสิ่งที่ไม่สามารถทดแทนได้ เอกสารชิ้นนี้คือหนึ่งในบทความชุดยาวของวารสาร Olympic Review ซึ่งตีพิมพ์ก่อนการประชุมสภาโอลิมปิกเกี่ยวกับจิตวิทยาการกีฬาและสรีรวิทยาการกีฬาใน ค..1913

            เมื่อหลายเดือนก่อน ข้าพเจ้าให้คำมั่น (ซึ่งอาจไม่รอบคอบนัก) ที่จะกำหนดกรอบพื้นฐานของสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “ปรัชญาวัฒนธรรมทางกาย” คำสัญญาดังกล่าวนี้ไม่สมเหตุสมผลเนื่องเพราะหัวข้อนี้กว้างขวางและสำคัญถึงขนาดที่ข้าพเจ้ารู้สึกละอายใจยิ่งที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้บนพื้นที่ไม่ค่อยเหมาะของบทความหนังสือพิมพ์ แต่กระนั้นก็ตาม ข้อวิพากษ์ของข้าพเจ้าต่อระบบจำนวนมากที่กล่าวถึงโดยเฉพาะการละเลยและการรังเกียจต่อจิตวิทยานั้น จะไร้ความหมายหากข้าพเจ้าจะไม่ต่อท้ายด้วยข้อแนะนำเชิงบวก เป็นเวลานานแล้วที่ผู้คนใช้คำกล่าว “ทุกคนคือผู้วิจารณ์” แต่ไม่มีใครจะมีสิทธิในการหักล้างบางสิ่งเว้นเสียแต่ว่าตนเองจะเตรียมแนวการดำเนินงานเพื่อสร้างสิ่งอื่นทดแทน

            รู้จักตนเอง

            ในบางครั้ง แนวคิดโบราณเป็นทั้งจุดเริ่มและจุดจบของวัฒนธรรมทางกาย ซึ่งขมวดปมความต้องการและวัตถุประสงค์ ตัวมนุษย์เองคือนายช่างใหญ่ของการพัฒนาร่างกายมนุษย์ สิ่งสำคัญแรกสุดในการพัฒนาตนเองอย่างมีประสิทธิผลคือ การรู้จักตนเอง โดยไม่ต้องกล่าวว่า พวกเราจะไม่พูดเกี่ยวกับระยะเริ่มต้นของการศึกษาปฐมวัย ถึงแม้ครูอาจใช้ข้อมูลเชิงจิตวิทยาและสรีรวิทยา รวมทั้งการสะสมประสบการณ์และการสังเกตเพื่อประโยชน์สำคัญในช่วงวัยนั้น แต่ความร่วมมือจากเด็กต่อการดำเนินงานคงเป็นสิ่งที่วางแผนไม่ได้ ทั้งนี้ จิตสำนึกจะตื่นรู้ในตัวเด็ก ในกรณีใดก็ตาม คำเตือนให้ “รู้จักตนเอง” จะเกิดความหมายสมบูรณ์เชิงค่านิยมในวัยรุ่น

            ความทะเยอทะยาน ความแข็งแรงและความอ่อนแอ 

            ภารกิจต่อไปคือ การมุ่งความสนใจไปที่ความทะเยอทะยาน จุดแข็งและจุดอ่อนของบุคคล เพื่อก่อให้เกิดบูรณาการที่สามารถชดเชยผลของอีกสิ่งเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือแผนงานโดยรวมของวัฒนธรรมทางกาย ความทะเยอทะยาน? ไม่มีสิ่งใดจะสำเร็จโดยปราศจากสิ่งนี้ ความทะเยอทะยานไม่จำต้องพุ่งเป้าสูงสุด ไม่ใช่ทุกคนจะถูกลิขิตต่อเกียรติภูมิของแชมเปี้ยน จึงไม่ใคร่จะเป็นที่พึงประสงค์แก่ทุกคนที่จะยินดีต่อแรงบันดาลใจนี้ แม้ต้องการเพียงกึ่งกลางก็อาจถือเป็นความทะเยอทะยานได้ ข้าพเจ้าไม่รังเกียจที่จะกล่าวว่า หากไม่มีความทะเยอทะยานแล้ว จะไม่มีสิ่งใดในวัฒนธรรมทางกายที่จะสำเร็จโดยแม้จะมีคำปรึกษาและคำชี้นำจากผู้สอนที่พร้อมด้วยคุณสมบัติสูงสุดและความทุ่มเทเต็มที่ก็ตามที ทั้งนี้ ความทะเยอทะยานอาจเป็นสัญชาติญาณหรือมาจากปัจจัยภายนอก รวมทั้งเป็นผลจากการสืบทอดผ่านพันธุกรรม รสนิยมส่วนบุคคล ความชอบเฉพาะเจาะจง การคำนวณผลได้เสียหรือแรงริษยา อย่างไรก็ตาม ต้นตอของความทะเยอทะยานไม่ใช่สาระสำคัญในที่นี้ เรื่องหลักคือความทะเยอทะยานดำรงอยู่และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ ความปรารถนาและความตั้งใจที่คลุมเคลือซึ่งอยู่ไกลห่างจะไม่เคยปรากฏเป็นจริง ข้าพเจ้ากำลังกล่าวถึงเฉพาะความปรารถนาและความตั้งใจที่อาจส่งผลเป็นรูปธรรมด้วยพลังมากพอที่จะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่จำเป็น

            เมื่อความทะเยอทะยานปรากฏขึ้นแล้ว พวกเราต้องค้นหาวิธีการที่ดีสุดเพื่อตอบสนองโดยกฎว่าด้วย “แรงต้านน้อยสุด” คือคำตอบของเรื่องนี้เช่นเดียวกับเรื่องอื่น วัฒนธรรมทางกายนำมาซึ่งจุดแข็งสามประการกล่าวคือ ด้านร่างกายซึ่งเป็นสิ่งสำคัญหลักที่ชัดเจน พร้อมจุดแข็งด้านจิตใจและด้านสังคม โดยพวกเราคงไม่จำเป็นที่ต้องถูกย้ำเตือนว่า กล้ามเนื้อไม่ใช่ปัจจัยหนึ่งเดียวต่อการพิจารณาจุดแข็งด้านร่างกายซึ่งต้องรวมถึงระบบประสาท การหายใจ ย่อยอาหารและอื่นๆด้วย อรรถาธิบายของ ดร.พี ทิสสิ กล่าวถึงพลวัตของกล้ามเนื้อในรูปของความยืดหยุ่น ความตึง การหดตัว ล้วนเป็นผลไปพร้อมกัน “จากระบบประสาทผ่านข้อมูลนำเข้า จากการหายใจผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชันในเลือด จากการไหลเวียนโลหิตผ่านการใช้ประโยชน์ของน้ำเลือด จากการย่อยอาหารผ่านการใช้ประโยชน์ของสารอาหารไนโตรเจนหรือไฮโดรคาร์บอนหรือพลังงาน และท้ายสุดจากข้อต่อและกระดูกผ่านจุดหมุนของข้อต่อและความแข็งแกร่งของกระดูกท่อนแขนที่ทำหน้าที่เป็นคานงัด” สิ่งทั้งหมดนี้ล้วนต่างชนิดแต่เป็นการยึดโยงซึ่งกันและกันของสิ่งเดียวกัน ทั้งนี้ พวกเราจะไม่พินิจพิจารณามากไปกว่านี้ มุมมองดังกล่าวนี้กำลังได้รับความนิยมเป็นการทั่วไป แต่มิติที่มักถูกละเลยของวัฒนธรรมทางกายคือ มิติจิตวิทยา ไม่ใช่มิติสรีรวิทยา

            พลังขับเคลื่อนด้านจิตใจและสติปัญญาจำนวนมากทำงานร่วมกันในการพัฒนาร่างกายมนุษย์ การสะท้อนคิดและการสังเกตมีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกับเจตจำนง ความกล้าหาญและความพากเพียร เป็นที่แน่ชัดว่า เจตจำนงพร้อมสิ่งประกอบ ความกล้าหาญ และความพากเพียรคือไตรภาคีที่ไม่มีสิ่งใดเทียมทัดในพลังขับเคลื่อนการพัฒนา ทั้งนี้ พวกเรายังสามารถขับเคลื่อนความก้าวหน้าอย่างยิ่งยวดด้วยการสังเกตผลการออกกำลังกายของตนเองและผู้อื่นรวมทั้งการรู้วิธีการสะท้อนคิดต่อผลเหล่านี้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผล การนำศักยภาพความคิดมาใช้กับวัฒนธรรมทางกายเช่นนี้ไม่ใช่สืบเนื่องมาจากปัญญาญาณภายใน แต่พวกเราต้องเรียนรู้วิธีการและหมั่นเพียรฝึกฝน

            จุดแข็งบางประการด้านสังคมมีประโยชน์อย่างชัดแจ้งไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ค่านิยมต่อความเพียร จิตแห่งการให้อภัย ความสามัคคี จิตนิยมองค์กร…ในบรรดารูปแบบทั้งหมดของความเป็นมิตรภาพที่มนุษย์ใฝ่หานั้น อาจจะไม่มีสิ่งใดที่ทรงพลังและประสิทธิผลไปกว่ามิตรภาพแห่งการกีฬา ในท่ามกลางภัยคุกคามร่วมของอันตรายหรือความเสี่ยงหนึ่งใด  การช่วยเหลือเจือจุนสม่ำเสมอระหว่างกัน ความเบิกบานสำราญกายและผลของความกระตือรือร้นที่สร้างเสริมสุขภาพซึ่งล้วนต่างประสานสอดรับเพื่อสร้างมิติสังคมของการออกกำลังกายนั้น เป็นสิ่งรื่นรมย์และออกดอกผล อุปนิสัยของการเปรียบเทียบซึ่งแสดงความนิยมชมชอบพร้อมความริษยาเล็กน้อยชั่วขณะดังกล่าวไว้ก่อนหน้าเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการตามธรรมชาติ ความพยายามในความบากบั่นและความมีชัยคือผลลัพธ์อีกชนิดหนึ่ง ท้ายสุดแล้ว กลุ่มได้ถือกำเนิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกต่อความสมานฉันท์และจิตนิยมองค์กร

            ได้กล่าวเพียงพอแล้วสำหรับจุดแข็ง โดยจุดอ่อนก็มีสามด้านเช่นกันคือ ร่างกาย จิตใจและสังคม ความอ่อนแอของอวัยวะหนึ่งโดยเฉพาะ การไร้เรี่ยวแรงของกล้ามเนื้อโดยรวมและอาการตื่นวิตกล้วนมาจากพันธุกรรมหรือความบกพร่องทางกายที่เกิดขึ้น อาการนิ่งงัน การประหม่าและภาวะอ่อนเปลี้ยทุกรูปแบบเป็นความอ่อนแอทางจิตใจ ความอ่อนแอเชิงสังคมรวมถึงอาการขวยอายด้วยการปรากฏกายของผู้อื่น อารมณ์กราดเกรี้ยว และผลรวมความผิดพลาดที่จะทำให้ผู้กระทำถูกตราว่าบุคลิกภาพแย่ เป็นต้น องค์ประกอบด้านจิตวิทยาของแต่ละบุคคลซึ่งถูกกำหนดโดยเกณฑ์เหล่านี้ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่าจะแปรผันอย่างยิ่งระหว่างคนหลากหลาย แต่สำหรับข้อมูลนี้

            พวกเราจะใช้ประโยชน์อย่างไร?  

            เอาละ หากพวกเรากำลังพูดถึงผู้ใหญ่ที่ชาญฉลาดทรงภูมิ เมื่อมีการบันทึกและติดตามอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะมากหรือน้อยด้วยตัวเขาเอง หรือภายใต้การชี้นำของครูหากผู้นั้นไม่สามารถกระทำด้วยตนเอง ข้อมูลนี้ควรได้รับการบันทึกบนบัตรแผ่นหนึ่ง ในปัจจุบัน การปฏิบัติเช่นนี้กำลังเป็นที่นิยมของวิชาพลศึกษาในสถานศึกษาหลายแห่งแต่ก็ยังเป็นเพียงข้อมูลที่เกี่ยวกับสรีรวิทยาเท่านั้น บัตรที่ใช้ในลักษณะนี้อาจกลายเป็นข้อกำหนดพื้นฐานของทั้งนักเรียนและครู ท่านคิดหรือไม่ว่า พัฒนาการร่างกายของคนฉุนเฉียว คนอุ้ยอ้าย คนแน่วแน่ คนลังเล คนกล้าหาญ คนขี้อาย คนขี้โกหก หรือคนระมัดระวังตัว อาจถูกชักจูงด้วยวิธีเดียวกันอย่างแน่นอน? ทั้งนี้ การควบคุมความแตกต่างหลากหลายแม้กระทั่งบุคลิกภาพที่ตรงข้ามคนละด้านด้วยแบบพิมพ์เดียวกันนั้น ดูน่าขบขัน แต่ก็เพราะพวกเรามีนิสัยคร่ำครึ จึงมองว่า แนวทางนี้เป็นสิ่งสามัญประจำโลกใบนี้

            กล่าวโดยสรุป ความเข้าใจของข้าพเจ้าต่อปรัชญาวัฒนธรรมทางเป็นดังข้างต้น โดยแทนที่จะกล่าวในหัวข้อให้มากขึ้น จะเป็นการดีกว่าหากข้าพเจ้าจะรอฟังข้อโต้แย้งและคำวิพากษ์ของท่านเพื่อพร้อมในการโต้ตอบ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยนำแสงสว่างแก่หัวข้อโดยรวมอย่างมีประสิทธิผลมากกว่าการที่ข้าพเจ้าจะเพิ่มเติมคำอธิบาย ณ เวลานี้

RANDOM

NEWS

สอศ. ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิด ‘ห้องปฏิบัติการภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลก’ ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนุนสร้างแรงงานคุณภาพสมรรถนะสูง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน

กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนนักออกแบบ ผู้ประกอบการ สมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2567 ‘Design Excellence Award 2024’ (DEmark) จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์ อย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 3 มิถุนายน 2567

error: Content is protected !!