“นวัตกรรมการออกแบบ” อินเตอร์ มจธ. ส่งนศ.ร่วมงานบริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลก เรียนรู้จากประสบการณ์จริงรายแรกของไทย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

โปรแกรม DIPS หรือ Design Innovation Practice School” หลักสูตรนานาชาติ สาขานวัตกรรมการออกแบบ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกสาขาวิชาที่สนใจอยากเรียนการออกแบบ หรืออยากเป็นนักออกแบบมืออาชีพ โดยไม่เน้นว่านักศึกษาจะต้องวาดรูปเก่ง แค่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และมีทักษะด้านภาษาอยู่บ้าง ก็สามารถมาเรียนได้ ที่สำคัญเป็นหลักสูตรที่ “ไม่มีสอบ” วัดผลจากผลงานเพียงเท่านั้น แถมได้ไปทำงานจริงรับโจทย์จริงกับบริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลกเป็นระยะเวลากว่า 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง หลังเปิดการเรียนการสอนมากว่า 1 ปี ปัจจุบันมีนักศึกษารุ่นแรกทั้งสิ้นจำนวน 24 คน (นักศึกษาไทย 20 คน, ฟิลิปปินส์ 1 คน กัมพูชา 2 คน และอินเดีย 1 คน)

เพราะ DIPS เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Experiential Learning Platform การเรียนเสมือนการทำงานในชีวิตจริงที่แรกในประเทศไทย ล่าสุด นักศึกษารุ่นแรกของหลักสูตร กำลังเตรียมตัวเข้าสู่การทำงานจริง ด้วยโจทย์จริงกับ Partnership บริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Jacob Jensen Design (JJD) สตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติเดนมาร์ก, FOURDIGIT Thailand บริษัทชั้นนำด้านการออกแบบ UX/UI จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 2 แห่งมีสาขาอยู่ในประเทศไทย และ Whatnot บริษัทผู้ให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจและนวัตกรรมสำหรับการทำสตาร์ทอัพของประเทศไทย ภายในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งมีระยะเวลาในการทำงานถึง 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง เมื่อจบแล้วอาจยังได้รับโอกาสทำงานกับบริษัทต่อไป หลักสูตรจึงต้องเตรียมทุกอย่างและพยายามปรับพื้นฐานให้กับเด็กให้พร้อมและมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ พร้อมเรียนรู้การเป็นมืออาชีพ หรือ professional มากที่สุด เพื่อให้นักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงในบริษัทได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นที่สุด ความพร้อมจึงเป็นจุดแรกที่หลักสูตรเตรียมให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะวิธีคิด หรือ soft skills

การสอนของ DIPS เป็นการสอนแบบ Learn how to learn เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ และสอนให้เห็นทุกขั้นบันไดทุกวิชาแบบผสมผสานไปพร้อม ๆ กัน ผ่านการทำ workshop เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นได้เรียนรู้ภาพใหญ่ก่อนภายใน 6 เดือนแรก

“การสอนแบบ Learn how to learn เช่น เรามี Workshop ที่ว่าด้วยเรื่องการอ่านหนังสือ เน้นการสร้างทัศนคติที่ดีในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เราพยายามหาหนังสือที่หลากหลายองค์ความรู้ ทั้งเล่มเก่า เล่มใหม่ ให้เขาได้อ่าน เพื่อเป็นความรู้ เห็นวิวัฒนาการ เห็นความหลากหลาย สอดคล้องกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง ไม่ได้อ่านเพื่อสอบ ตอนแรกนักศึกษาอาจยังไม่เข้าใจว่าให้อ่านทำไมถ้าไม่มีสอบ พยายามถามว่าเราจะออกข้อสอบตรงไหน ถามเรื่องไหนเป็นพิเศษ จะได้เน้นอ่านที่เรื่องนั้น ซึ่งนักศึกษาจะต้องปรับทัศนคติในการอ่านหนังสือใหม่ว่า การอ่านหนังสือมากเราก็จะรู้มากขึ้น แม้ความรู้ที่อ่านวันนี้อาจยังไม่ได้ใช้โดยตรง แต่ความรู้เหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบในการสร้างความสามารถในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจสิ่งใหม่ในชีวิต หนังสือไม่ได้มีไว้อ่านจบแล้วทิ้ง วันไหนที่ต้องการอ่านอีก คุ้น ๆ ว่าเคยอ่านเรื่องนี้ ใครเคยพูดเคยทำงานแบบนี้ ก็หยิบมาอ่านทบทวนใหม่ได้”

หรือ ตัวอย่าง Design Thinking Workshop ที่เด็กกำลังทำอยู่ในตอนนี้ ไม่ได้เป็นวิชาที่หลักสูตร กำหนดไว้ตายตัว แต่เราอยากให้นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการทำงานร่วมกันกับผู้คนที่หลากหลายพื้นฐานความรู้ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งโจทย์ที่ให้ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันว่าจะหยิบเคสไหนมาให้เรียน และนักศึกษาได้มีส่วนร่วมด้วย คลาสนี้นักศึกษาตัดสินใจต้องการโจทย์แบบเอ็กซ์ตรีม สนใจกลุ่มคนที่เป็นยูทูปเปอร์ หรือสกิมเมอร์ ดังนั้น เวลาที่นำ Design Thinking Workshop มา Apply นักศึกษาจะได้ทดลองกระบวนการทำความเข้าใจพฤติกรรม และความต้องการในเชิงลึกจริง ๆ ของลูกค้า ไม่ใช่แค่เข้าไปดูใน Google แล้วนำมาอ้างอิงเท่านั้น แต่จะต้องสามารถ Decode ข้อมูลอธิบายแนวคิดได้ และอาจารย์จะไม่พยายามฟันธงโดยใช้ประสบการณ์ตนเอง แต่หากจะพยายามกระตุ้นให้นักศึกษาทำความเข้าใจทั้งลึกและกว้าง จนกระทั้งนักศึกษาคิดว่าตัวเองมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ” ผศ.นิมิต เหม่งเวหา อาจารย์ประจําหลักสูตร DIPS คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าว

ขณะที่ ผศ.พรยศ ฉัตรธารากุล หัวหน้า Center of Innovation for Society และอาจารย์ประจําหลักสูตร DIPS กล่าวเสริมว่า หลักสูตร DIPS ไม่มีหนังสือเรียนเฉพาะที่ตายตัว ไม่มี Final Project และการเรียนการสอนของเราก็ไม่มีการสอบ แต่จะมีการกิจกรรมที่ชวนนักศึกษามา challenge กัน ไม่ได้มุ่งที่การทำให้ดีที่สุดหรือแข่งขันกันว่าใครได้ก่อน เร็วกว่า เก่งกว่า แต่เป็นการ Challenge ให้นักศึกษาทะลุข้อจำกัดในการเรียนรู้ของตนเองมากกว่า “เราคิดว่าเรารู้ลึกแล้ว แต่วันต่อมาเราก็รู้ลึกได้อีก” และใช้การประเมินแบบมีส่วนร่วมว่านักศึกษามีความสามารถเพิ่มอย่างไร สามารถอธิบายความแตกต่าง และความลึกของความสามารถที่เพิ่มขึ้นได้ ส่วนเนื้อหานอกจากที่กำหนดไว้ตามตารางแล้ว หากมีเนื้อหาใดที่นักศึกษาต้องการเรียนรู้ เช่น วิชาสถิติ ซึ่งปกตินักศึกษาออกแบบจะไม่สนใจ เพราะคิดว่าไม่มีประโยชน์ แต่พอนักศึกษาได้เรียนในรูปแบบใหม่ของ DIPS ที่นักศึกษาจะทำงานไป โดยไม่อิงการเรียนการสอนแบบรายวิชา พอรู้ตัวเองว่าต้องการความรู้เรื่องสถิติเพิ่ม เพื่อให้ Project มีความสมบูรณ์ ไม่ใช้แค่ทำ Project เสร็จ นักศึกษาก็เริ่มขอให้สอน โดยไม่รอให้ถึงเวลาเรียน เราก็จะเชิญอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาสอนให้ก่อน เป็นต้น

ในส่วนการทำงานของนักศึกษานั้น ผศ.พรยศ กล่าวว่า เนื่องจากจะต้องทำงานกับบริษัทภายใต้หลักสูตรฯ ซึ่งจะได้รับมอบหน้าที่ที่ชัดเจน นักศึกษาจะต้องพัฒนางานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจนกระทั่งครบ 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง นอกจากนักศึกษาจะได้มีส่วนร่วมในผลงานที่ทำ ยังได้รับหนังสือรับรองประสบการณ์การทำงานจากทางบริษัทด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากการเป็นนักศึกษาฝึกงานที่มีระยะเวลาเพียง 1-3 เดือน ใช้ช่วงปิดเทอมหรือปีสุดท้าย ที่สำคัญนักศึกษาจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะจะมีอาจารย์ประจำที่มีประสบการณ์ทำงานมาร่วมเสริมความรู้เชิงวิชาการ และคำอธิบายเพิ่มเติมให้กับนักศึกษาด้วย เรียกว่าเข้าไปคอยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทั้งนักศึกษาและบริษัท อีกทั้งขณะที่ทำงานนักศึกษายังต้องจัดหาเวลากลับมาทำ International Activities ไม่ว่าจะเป็น Workshop, Exchange Program เป็นต้น ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ เพื่อเสริมองค์ความรู้ใหม่ ๆ พัฒนาทักษะการทำงานในมิติต่าง ๆ ร่วมกับ นักศึกษา อาจารย์ นักออกแบบจากประเทศต่าง ๆ ให้กับนักศึกษาตลอดระยะเวลาการทำงานในสัดส่วนร้อยละ 20

ในฐานะตัวแทนนักศึกษารุ่นแรก นางสาวศุภวดี จีรพันธ์เจริญสิน หรือ น้อง Love อายุ 19 ปี จากเด็กสายศิลป์ภาษาเกาหลี โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เล่าถึงการตัดสินใจมาเรียนหลักสูตร DIPS ว่า สาเหตุที่เลือกเรียนในโปรแกรมนี้ เพราะชอบงานออกแบบ จากตอนแรกสมัครเรียนในแผนการเรียนปกติ แต่ที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาเรียนแผนการเรียน DIPS เพราะเห็นว่าเป็นหลักสูตรใหม่เพิ่งเปิดสอน และมีสาขาที่ชอบ ที่สำคัญ คือ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการทำงานจริงด้วย ไม่ใช่แค่การฝึกงานระยะสั้น ซึ่งทางคุณแม่ก็เห็นชอบด้วยค่ะ

“หลังจากเรียนมากว่า 6 เดือน ไม่ได้รู้สึกว่า เรียนหนักห่ามรุ่งห่ามค่ำ แม้จะไม่เคยเรียนรูปแบบนี้มาก่อน จากปกติจะเรียนเป็นรายวิชา ไม่ใช่เรียนหลาย ๆ วิชาร่วมกันในคลาสเดียว แบบ DIPS พอมาเรียนแล้วทำให้เนื้อหาต่อเนื่อง ที่ชอบที่สุด คือ การเรียนที่นี่ไม่มีการสอบ แต่จะประเมินวัดผลจากพัฒนาการของตัวเอง ส่วนตัวรู้สึกชอบกับวิธีการประเมินแบบนี้ เพราะการที่ไม่มีสอบ เราไม่ต้องคอยมาท่องจำเพื่อทำข้อสอบ ทำให้ไม่ต้องรู้สึกเครียดกับการเรียน และมีความสุขที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา คิดว่าการเรียนในลักษณะนี้เหมาะสมกับยุคสมัยใหม่”

สิ่งที่ได้พัฒนาขึ้น น้อง Love บอกว่า “เป็นวิธีการคิดที่เปลี่ยนไป ทำให้เราเข้าใจเรื่องการออกแบบมากขึ้น ทำให้เข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนจะชอบงานออกแบบของเรา จากเดิมที่เคยคิดเพียงแต่ว่าการออกแบบจะต้องสวย ต้องทำให้คนอยากซื้อเท่านั้น แต่มันไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะการออกแบบจริงๆ แล้ว ไม่ได้มุ่งเน้นที่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจพฤติกรรมและรู้ถึงความต้องการของผู้ใช้ก่อน คิดไปข้างหน้า ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหา เกิดกระบวนการคิดที่มากขึ้น เช่น ต้องดูว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะพัฒนาชีวิตของผู้ใช้ได้อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าตอนนี้การออกแบบของเรามีคุณภาพขึ้น และตนก็คาดหวังว่าจะได้ทำงานจริง ๆ กับบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก อย่าง Jacob Jensen Design Studio (JJD) ซึ่งถือเป็นข้อดีของการเรียนโปรแกรม DIPS ที่เราจะได้ทำงานจริง ๆ กับบริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลก ที่เป็น Partnership ไม่ใช่แค่เด็กฝึกงานเท่านั้น ทำให้เรามีประสบการณ์ชีวิตในการทำงานจริง”

สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ที่มีใจรักการออกแบบ และงานสร้างสรรค์นวัตกรรม ฝันอยากเป็นนักออกแบบ หรือสร้างนวัตกรรมมืออาชีพ แต่วาดรูปไม่เก่ง ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ขอแค่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ หลักสูตร DIPS เปิดรับสมัครผู้ที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทุกสายวิชา ทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ ผู้ที่สนใจติดต่อโดยตรงได้ที่ ผศ.พรยศ ฉัตรธารากุล โทร. 085-073-4488 หรือเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://dipskmutt.com/

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!