ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร จุฬาฯ ผนึกแพทย์สหสาขาวิชา เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ความหวังผู้ป่วยมะเร็ง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

จุฬาฯ เปิด ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร ระดมแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและโอกาสหายจากโรค

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยหลายคนมักรู้สึกหมดหวัง กลัวและกังวลว่าจะมีแนวทางรักษาที่ได้ผลหรือไม่ ผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไร และจะเอาทุนค่าใช้จ่ายในการรักษามาจากไหน ซึ่ง ศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หวังจะเป็นหนึ่งในคำตอบให้ผู้ป่วยมะเร็ง

“โรคมะเร็งเป็นโรคที่รักษายาก เนื่องจากธรรมชาติของโรคมีความซับซ้อน การบำบัดรักษาจึงต้องบูรณาการความร่วมมือจากแพทย์หลากหลายสาขา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้ก่อตั้ง “ศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร” คัดสรรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาวิชาต่าง ๆ ให้มาทำงานร่วมกันในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยที่มาของแนวคิดในการก่อตั้งศูนย์ฯ ซึ่งเปิดให้บริการมาแล้ว 7 ปี และมีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้นทุกปี

ในการรักษาผู้ป่วยอย่างครบวงจรและได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสหสาขาวิชาชีพมาทำงานร่วมกัน ใช้วิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงเพื่อรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานระดับนานาชาติ รวมถึงนำนวัตกรรมใหม่ ๆ อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในการรักษา เช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) เครื่อง MRI และเครื่องฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตรอน ซึ่งเป็นแห่งแรกในอาเซียน สามารถให้รังสีไปที่ก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ ลดปริมาณรังสีไปสู่อวัยวะรอบข้าง และลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสี

นอกจากการรักษาด้วยวิทยาการอันทันสมัยแล้ว ศูนย์ฯ ยังคำนึงถึงการดูแลผู้ป่วยในมิติอื่น ๆ อย่างรอบด้าน อาทิ ให้คำแนะนำผู้ป่วยตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการรักษา ส่งเสริมสุขภาพระหว่างการรักษา ติดตามสุขภาพผู้ป่วยเมื่อจบการรักษา รวมทั้งให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสิทธิการรักษาอย่างเท่าเทียม ได้มาตรฐาน และครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ ก็เพื่อคลายความกังวลใจในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าวถึงแนวทางมาตรฐานการให้ยารักษามะเร็งในปัจจุบันว่ามี 3 วิธี ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งแตกต่างกัน ดังนี้
1. ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการ ทำให้โรคมะเร็งลดลง ค่าใช้จ่ายไม่สูง มีประสิทธิภาพปานกลาง แต่อาจมีผลข้างเคียงมาก
2. ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) มีฤทธิ์ในการมุ่งรักษาเฉพาะจุด เป็นการให้ยารักษาที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็ง มีประสิทธิภาพจำเพาะในผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ตรงกับตัวยา อาการข้างเคียงมักจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัด
และแนวทางที่ 3 ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก และอาจเป็นความหวังให้กับผู้ป่วยมะเร็ง คือ ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งสามารถปลดล็อกการซ่อนตัวของเซลล์มะเร็ง เพื่อให้ภูมิคุ้มกันร่างกายสามารถเข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งได้ ไม่จำเพาะกับชนิดมะเร็ง และส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงน้อย

“ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง กำลังวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด โดยมุ่งเน้นพัฒนาการรักษา 3 วิธี คือ เซลล์บำบัดมะเร็ง วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และยาแอนติบอดีต้านมะเร็ง (ยาภูมิต้านมะเร็ง) ซึ่งภูมิคุ้มกันบำบัดทั้ง 3 วิธีนี้ มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สามารถใช้รักษาร่วมกัน และใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีการอื่น ๆ ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยในผู้ป่วยโรคมะเร็งเพื่อจะได้ทำการทดสอบในวงกว้างต่อไป” รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าว พร้อมย้ำความมั่นใจว่าการวิจัยการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดนี้จะเป็นความหวังที่ทำให้วงการแพทย์ไทยพิชิตโรคมะเร็งได้ ไม่แพ้ชาติใดในโลก

นอกจากการบริการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งแล้ว ศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร จุฬาฯ ยังมีบทบาทในด้านการสอนและอบรม โดยมีการสอนระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคมะเร็งในรูปแบบผสมผสาน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมนานาชาติ

บทบาทสำคัญอีกด้านของศูนย์ฯ คือ การวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อการวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค และการทำนายผลการตอบสนองต่อการรักษาและนำมาใช้ในการยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาล เพื่อให้ผลงานวิจัยด้านโรคมะเร็งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

“ศูนย์ฯ ยังทำหน้าที่ในการตรวจหายีนเกี่ยวกับโรคมะเร็งซึ่งเป็นการตรวจขั้นสูง ทำทะเบียนมะเร็ง เพื่อที่จะรู้ว่าเรามีผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดไหนมากน้อยเพียงใด เพื่อเตรียมการดูแลและปรับการรักษาในอนาคตให้ถูกต้อง เหมาะสมและดีที่สุด” รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าวเสริม

ที่ผ่านมา ศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ MD Anderson Cancer Center สถาบันผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งระดับโลก ที่ตั้งอยู่ในเมืองฮุสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างสถาบัน จัดการประชุมวิชาการทั้งด้านงานวิจัย และด้านงานบริการทางการแพทย์ รวมถึงการพัฒนางานบริการร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้าง “โครงข่ายข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็ง” ในแต่ละโรงพยาบาล เพื่อให้บริการผู้ป่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าวแนะให้ผู้ป่วยมะเร็งดูแลตัวเองโดยเฉพาะด้านโภชนาการ รับประทานอาหารที่เหมาะสม และจำเป็นต่อร่างกาย และพบแพทย์เฉพาะทางที่มีเครื่องมือพร้อม มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อวางแผนในการรักษาให้ได้ผลดีที่สุด เพราะ “การรักษาโรคมะเร็งที่ครบวงจรและครอบคลุม จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งได้”

สอบถามข้อมูล หรือรับบริการการรักษาที่ ศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร จุฬาฯ โทร. 02-256-4530 Line @ChulaCancer

 

RANDOM

APCO ร่วมกับ มูลนิธิพอ จัดกิจกรรมส่งความสุขมอบพลังบวกให้น้อง ๆ บ้านโฮมฮัก ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ หนุนใช้นวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อฟื้นฟูและบำบัดเด็กติดเชื้อ มุ่งสู่เป้าหมาย Bye Bye HIV

NEWS

error: Content is protected !!