สจล. เปิดศูนย์อวกาศ KMITL Space Hub ที่ชุมพร พร้อมผนึกกำลัง 5 องค์กรชั้นนำ หนุนไทยผู้นำ Space Economy เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผนึกพลัง 5 องค์กรภาครัฐ-เอกชน หนุนประเทศไทยเป็น ‘ผู้นำเศรษฐกิจอวกาศ’ (Space Economy) และก้าวเป็น ‘ฮับอวกาศในอาเซียน’ ได้ หากรัฐบาลใหม่เร่งส่งเสริมและสร้าง Eco-Systems ให้รวดเร็ว เผยแนวโน้มการใช้จรวดนำส่งขนาดเล็กต้นทุนต่ำ และดาวเทียมขนาดเล็กไฮเทค เป็นที่ต้องการทั่วโลก พร้อมดีเดย์เปิดศูนย์อวกาศ KMITL Space Hub อย่างเป็นทางการ ที่วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ด้วยความร่วมมือจาก องค์กรด้านอวกาศจากญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และ สหรัฐ ต่างยกให้เป็นทำเลทอง ของ ‘ท่าอวกาศยาน’ ที่ดีที่สุด 1 ใน 4 ของโลก สจล.ชูสามหลักสูตรสร้างกำลังคนป้อนเศรษฐกิจอวกาศและการบินยุคใหม่ เผยแผน 2 โครงการร่วมกับนานาชาติ คือ โครงการห้องแล็บอวกาศ และ การสร้างดาวเทียมขนาดเล็กสู่อวกาศ

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมด้วย 3 หน่วยงาน  วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. (IAAI) , คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และ วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สจล. กล่าวว่า เทคโนโลยีอวกาศ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยและทั่วโลก เช่น อินเตอร์เน็ต การถ่ายทอดสด การศึกษาทางไกล การแพทย์ทางไกล ระบบจีพีเอส โดรน การติดตามก๊าซเรือนกระจก เฝ้าระวังผลกระทบจาก Climate Change ไฟป่า น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่น PM2.5 เป็นต้น สจล. มุ่งสู่การเป็น ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการยกระดับการวิจัยพัฒนากับนานาชาติ การผนึกกำลังกันของ สจล. และ 5 องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศ ประกอบด้วย 1. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) 2. สถาบันวิจัยนานาชาติเทคโนโลยีสารสนเทศของญี่ปุ่น (NICT) 3. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 4. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และ 5.บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นับเป็นพลังที่เข้มแข็งในการพัฒนางานนวัตกรรมและการเติบโตของ ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ (Space Economy) เพื่อคนไทย เศรษฐกิจไทย และประชาคมโลก หากประเทศไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ เริ่มส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศได้เร็ว ก็จะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเป็น ‘ฮับอวกาศในอาเซียน’ ได้

สจล. ได้เปิด KMITL Space Hub อย่างเป็นทางการ ภายใต้ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (IAAI) ตั้งอยู่ในพื้นที่วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญ คือ

1. สถานีตรวจวัดสภาพอวกาศย่านความถี่สูงมาก (VHF) โดยติดตั้งเรดาร์อวกาศ เมื่อ 17 มกราคม 2563 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (NICT) ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นแห่งแรกในเอเชีย และเป็น 1 ใน 4 จุดที่ตั้งที่ดีที่สุด

2. สถานีตรวจจับการเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติ (PCMS) พร้อมอุปกรณ์ GNSS เมื่อ 30 เมษายน 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจาก องค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการติดตาม วิเคราะห์ และศึกษาวิจัยภัยพิบัติ

3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย หรือ ECSTAR ที่วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ มุ่งเน้นด้าน เทคโนโลยีอวกาศต้นน้ำ Upstream เช่น การสร้างดาวเทียม เทคโนโลยีดาวเทียม การปล่อยดาวเทียมสู่อวกาศ การรับ-ส่งสัญญานการควบคุมดาวเทียมในอวกาศ

4. โครงการจัดตั้งสถาบันอวกาศ-โลก และสิ่งแวดล้อม (The Institute of Space-Earth and Environment) หรือ ISEE มุ่งพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศ Downstream เช่น การถอดรหัสสัญญาน การนำข้อมูลสภาพอวกาศย่านความถี่สูง ข้อมูล PCMS หรือ ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม นำมาวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆ สิ่งแวดล้อม ภาพถ่ายความคมชัดสูง การดูแลป่าไม้ การจัดการการใช้ที่ดิน และ ด้านความมั่นคง เป็นต้น

5. ศูนย์ Space Learning Park ในอนาคตจะเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศสำหรับเยาวชนและประชาชนทุกเพศทุกวัย  ได้เข้ามาทัศนศึกษาทำความรู้จักกับอวกาศ กิจกรรม และ เวิร์กชอปที่สนุก และได้ความรู้

สำหรับ จุดเด่นของพื้นที่ชุมพร ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่าเหมาะกับ การเป็นท่าอวกาศยาน (Spaceport) และ การทำงานด้านสำรวจวิจัยอวกาศ นับเป็น 1 ใน 4 จุดใกล้เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกที่ดีที่สุดในโลกเท่าที่มีอยู่ นอกเหนือจาก แอฟริกา บราซิล และ ฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีความโดดเด่น 5 ประการ คือ อยู่ใกล้บริเวณศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก มีทะเลขนาบทั้งสองฝั่งซ้าย-ขวา ภูมิศาสตร์แนวชายฝั่งเป็นคาบสมุทร ไม่มีภัยพิบัติที่รุนแรง และมีเส้นทางคมนาคมหลากหลาย และเข้าถึงสะดวก

ด้าน พันเอก รศ. ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ อดีตประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวถึง ทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจอวกาศ (Direction of Space Economy) ว่า แนวโน้มการส่ง ‘ดาวเทียมขนาดเล็ก’ หรือ ‘คิวบ์แซท’ (CubeSat) จะเพิ่มจำนวนสูงยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนา ‘จรวดนำส่งขนาดเล็กต้นทุนต่ำ’ ดังนั้น ประเทศไทยต้องเร่งการพัฒนา Eco System ส่งเสริม Space Economy และ การพัฒนาอุตสาหกรรมดาวเทียม (Satellite Industry) โดยเร็ว สำหรับ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นั้น ได้มีบริษัทอวกาศจากต่างประเทศมาวิเคราะห์และเล็งเห็นว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะในการสร้าง ‘ท่าอวกาศยาน’(Spaceport) หรือ ‘ฐานปล่อยจรวดนำส่งดาวเทียม’ ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และของโลก

ขณะที่ ผศ. ดร.เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดี วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. (IAAI) กล่าวว่า ภารกิจการบินและอวกาศของ IAAI แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ สร้างกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โดยมี 3 หลักสูตร คือ 1. หลักสูตรวิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering) ออกแบบ ผลิตอากาศยาน ดาวเทียม และระบบเทคโนโลยีอวกาศ 2. หลักสูตรวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ (Aeronautical Engineering and Commercial Pilot) ป้อนสายการบิน และ ศูนย์อากาศยาน 3. หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management) ระบบขนส่งทางเครื่องบินและอากาศยานในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีเวิร์กช็อป สัมมนาระยะสั้น เช่น การสร้างดาวเทียมและสัญญานควบคุม สตาร์ทอัพด้านอวกาศ ค่ายเยาวชนสร้างดาวเทียม เป็นต้น อีกด้านหนึ่งเป็น งานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศ Upstream และ downstream เช่น เทคโนโลยีดาวเทียม นำข้อมูลสภาพอวกาศย่านความถี่สูง ข้อมูล PCMS หรือ ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม นำมาวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆ เช่น การสำรวจวิเคราะห์ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ภาพถ่ายความคมชัดสูง การใช้ที่ดิน และด้านความมั่นคง เป็นต้น

ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ วิทยาลัยอุตสากรรมการบินนานาชาติ สจล. (IAAI) ได้ผนึกความร่วมมือกับองค์กรที่มีความก้าวหน้าระดับโลก เช่น ENAC ประเทศฝรั่งเศส มีการวิจัยร่วมกัน และแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงาน ,  U.S.Space Rocket Center สหรัฐอเมริกา , องค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเซียแปซิฟิก (APSCO) ทั้งนี้ IAAI มี 2 โครงการ ในระยะ 3 ปี โดยร่วมมือกับนานาชาติ คือ โครงการห้องแล็บอวกาศ เพื่อพัฒนาดาวเทียมในประเทศไทยตามมาตรฐานสากล Space Grade และ การสร้างดาวเทียมขนาดเล็กสู่อวกาศ เป้าหมายเพื่อสามารถสร้างและส่งดาวเทียมสู่วงโคจรต่ำ หรือ Low Earth Orbit (LEO) Satellites สู่อวกาศได้สำเร็จ และใช้ประโยชน์ได้จริง ส่วนความร่วมมือในประเทศ ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับภาคีอวกาศ Thai Space Consortium ซึ่งมีภารกิจในการส่งจรวดไปโคจรรอบดวงจันทร์ โดย IAAI จะฝึกเตรียมบุคลากรด้านอวกาศ นอกจากนี้ IAAI ยังมีการวิจัยและความร่วมมือกับหน่วยงานสื่อสารโทรคมนาคมระดับชาติ เช่น กสทช ไทยคม เอ็นที ในด้านเศรษฐกิจอวกาศ

การผนึกกำลังกันของ 5 องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ ธุรกิจอวกาศ และ อุตสาหกรรมอวกาศ ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยต่อไป

RANDOM

error: Content is protected !!