คิวเอส เผย ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชา ปี 2566 สหรัฐอเมริกานำโด่งมีหลักสูตรติด 10 อันดับแรกมากสุด ถึง 256 หลักสูตร

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

คิวเอส ควัคควาเรลลี ซีมอนด์ส (QS Quacquarelli Symonds) สถาบันวิเคราะห์ข้อมูลด้านการอุดมศึกษาระดับโลก ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชา (QS World University Rankings by Subject) ครั้งที่ 13 เปิดโผรายชื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำใน 54 สาขาวิชา ซึ่งรวมถึงสามสาขาวิชาใหม่ล่าสุดที่มีการจัดอันดับ ได้แก่ วิทยาการข้อมูล การตลาด และประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับมาจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัยจำนวนกว่า 15,700 หลักสูตร จากมหาวิทยาลัย 1,594 แห่ง ใน 93 ประเทศและดินแดน

การจัดอันดับสาขาวิชาครั้งใหญ่นี้ ประกอบด้วยเกณฑ์การพิจารณา 5 ประการ ได้แก่ ความมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) และทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิต (Employer Reputation) จากการสำรวจนักวิชาการ 151,000 คน และนายจ้าง 99,000 รายทั่วโลก, การอ้างอิงต่อผลงานวิจัย (Research Citations per Paper), ดัชนีเอช (H-index) และเครือข่ายการวิจัยระหว่างประเทศ (International Research Network) โดยการจัดอันดับนี้ถูกค้นหาข้อมูลมากกว่า 120 ล้านครั้ง ในปี 2565 บนเว็บไซต์ TopUniversities.com และถูกอ้างถึงโดยสื่อทั่วโลกมากกว่า 117,000 ครั้ง

คุณเบน โซวเทอร์ (Ben Sowter) รองประธานอาวุโสของคิวเอส เปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวนหลักสูตรที่ติด 10 อันดับแรกมากที่สุด (256 หลักสูตร) ตามมาด้วย สหราชอาณาจักร 145 หลักสูตร และ สวิตเซอร์แลนด์ 32 หลักสูตร นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกายังครองอันดับหนึ่งใน 32 สาขาวิชา โดยฮาร์วาร์ด (Harvard) รั้งอันดับหนึ่งใน 14 สาขาวิชา และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) รั้งอันดับหนึ่งใน 11 สาขาวิชา

มหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักร ครองตำแหน่งสูงสุดใน 15 สาขาวิชา โดย มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ครองอันดับหนึ่งใน 4 สาขาวิชา ในขณะที่ เคมบริดจ์ (Cambridge), ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (UCL) และ ราชวิทยาลัยศิลปะ (Royal College of Art) ต่างรั้งอันดับหนึ่ง สถาบันละ 2 สาขาวิชา

ในยุโรปภาคพื้นทวีป สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก (ETH Zurich) เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่คว้าอันดับหนึ่งใน 3 สาขาวิชา หากพิจารณาเป็นรายประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ครองอันดับหนึ่งใน 4 สาขาวิชา ขณะที่ เนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำใน 2 สาขาวิชา และ อิตาลีรั้งอันดับหนึ่งใน 1 สาขาวิชา

ออสเตรเลีย ครองอันดับ 4 ประเทศที่มีหลักสูตรติดอันดับมากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในสามสถานที่วิจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดตามดัชนีเอช

จีน (แผ่นดินใหญ่) มีจำนวนหลักสูตรที่ติด 50 อันดับแรกมากเป็นอันดับ 5 ขณะที่ อินเดียเป็นประเทศที่มีพัฒนาการสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย ด้วยผลการจัดอันดับโดยรวมดีขึ้น 17% ตรงกันข้ามกับ ญี่ปุ่นที่ยังคงตกต่ำทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัย 43% มีอันดับร่วงลง และมีเพียง 8% ที่อันดับดีขึ้น

มหาวิทยาลัยโทรอนโต (University of Toronto) ของแคนาดา มีหลักสูตรที่ติด 50 อันดับแรกมากที่สุดในโลก คือ 48 หลักสูตร

มหาวิทยาลัยแห่งชิลี (Universidad de Chile) ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในลาตินอเมริกา ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ – แร่และเหมืองแร่ (อันดับที่ 8) ด้าน บราซิลเป็นประเทศที่มีหลักสูตรติดอันดับมากที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยมี 291 หลักสูตร และติด 100 อันดับแรก รวม 55 หลักสูตร ในขณะที่ เม็กซิโกมีหลักสูตรติด 20 อันดับแรกมากที่สุดในภูมิภาค (3 หลักสูตร)

แอฟริกาใต้ ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในภูมิภาคแอฟริกาใน 2 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมแร่และเหมืองแร่ (Mineral & Mining Engineering) และพัฒนศึกษา (Development Studies) (อันดับที่ 12 ทั้งคู่)

RANDOM

NEWS

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับทุนวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ (รอบที่ 3) ประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งข้อเสนอโครงการได้ ตั้งแต่บัดนี้–31 พ.ค. 67

error: Content is protected !!