นักวิจัย จุฬาฯ คิดค้น ทรายแมวจากมันสำปะหลัง ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้เกษตรกร

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง นักวิจัยหลังปริญญาเอก C2F ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทรายแมวจากมันสำปะหลัง ว่า ด้วยความที่เป็นคนชอบเลี้ยงแมวและใช้ผลิตภัณฑ์ทรายแมวมากว่า 10 ปี สังเกตเห็นว่าทรายแมวในท้องตลาดเกือบ 100 % นำเข้าจากต่างประเทศ จึงสงสัยว่าเพราะเหตุใดบ้านเราถึงไม่มีการผลิตทรายแมวใช้เอง เราจึงเริ่มมองหาวัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรของไทยว่ามีอะไรบ้างที่น่าจะนำมาทำเป็นทรายแมวได้ เช่น แกลบ ชานอ้อย จนมาลงตัวที่มันสำปะหลัง

“มันสำปะหลัง มีคุณสมบัติด้านความเหนียวเมื่อโดนน้ำ ซึ่งตรงกับลักษณะการใช้งานของทรายแมว ที่ต้องมีคุณสมบัติในการดูดซับของเหลว และจับตัวเป็นก้อนได้เร็ว นอกจากนี้ ทรายแมวจากมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถกำจัดโดยทิ้งลงชักโครกได้เลย”

ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง

นวัตกรรมนี้ตอบโจทย์ในการสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง แถมยังให้ความมั่นใจกับบรรดาทาสแมวทั้งหลายที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงไม่แปลกใจที่ นวัตกรรมทรายแมวผลิตจากมันสำปะหลัง ได้รับรางวัลการันตีความสำเร็จมากมาย อาทิ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปีงบประมาณ 2565 รางวัลระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปี 2564 และรางวัล The Prime Minister’s Export Award ปี 2564 จากกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

ทรายแมวจะทำจากมันสำปะหลัง 100 % ไม่มีสารเคมีเจือปน จึงปลอดภัยต่อแมวและผู้เลี้ยง ไม่มีฝุ่นจากหินดินทราย ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อหายใจเข้าไป นอกจากนี้ ทรายแมวจากมันสำปะหลัง ยังจับตัวเป็นก้อนง่าย เมื่อแมวใช้งานแล้ว ก็สะดวกในการเก็บและนำไปทิ้งชักโครกได้เลย เพราะมันสำปะหลังสามารถละลายแตกตัวในน้ำได้เร็วและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ที่สำคัญ ทรายแมวจากมันสำปะหลังดูดกลิ่นได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด

ทั้งนี้ กระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังให้กลายเป็นทรายแมวนั้น เริ่มจากการนำมันสำปะหลังทั้งหัวมาย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทำให้แห้งก่อนบดเป็นผง จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการใช้ความร้อนและความดันที่เหมาะสม จนได้ทรายแมวอัดรูปเม็ดเล็กละเอียด

“ข้อดีของการใช้มันสำปะหลัง คือ เป็นวัตถุดิบที่มาจากพืช ทำให้สามารถปลูกทดแทนขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากทรายแมวที่ใช้แร่หินเบนโทไนท์ ซึ่งได้จากการระเบิดภูเขา เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การปลูกมันสำปะหลังทดแทนเป็นการช่วยเกษตรกรให้มีรายได้หมุนเวียนสม่ำเสมอตลอดทั้งปี”

ในอนาคตอาจมีการแปรรูปพืชผลการเกษตรอื่น ๆ เป็นทรายแมว อาทิ ชานอ้อย แกลบ ก็สามารถแปลงเป็นทรายแมวได้ แต่ไม่ง่ายเหมือนมันสำปะหลัง เนื่องจากขาดคุณสมบัติของความเหนียว แต่ก็อาจทำได้โดยการปรับปรุงสูตรด้วยการเติมแป้งมัน หรือสารให้ความเหนียวลงไป

ที่ผ่านมามีผู้สนใจมาปรึกษาอยากทำทรายแมวอยู่เยอะพอสมควร เช่น ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ซึ่งมีแกลบเหลือทิ้ง หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่มีเส้นใยกัญชง ซึ่งมีแกนที่ใช้ทำอะไรไม่ได้ แล้วอยากนำมาทำให้เกิดประโยชน์ ก็มีโอกาสทำได้ แต่ต้องใช้เวลาศึกษาพัฒนาปรับปรุงสูตรต่อไปในอนาคต

ปัจจุบัน ดร.ลัญจกร กำลังต่อยอดผลิตภัณฑ์ทรายแมวให้สามารถบ่งชี้สุขภาพน้องแมวได้ ขณะนี้ กำลังวางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์ทรายแมวที่สามารถช่วยเฝ้าระวังโรคของแมวได้ เพื่อให้เจ้าของสามารถเห็นความผิดปกติของสุขภาพแมว ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก่อนจะป่วยหนัก จะได้พาน้องแมวไปรับการรักษาได้ทันท่วงที ผลิตภัณฑ์ทรายแมวที่กำลังวิจัยนี้ สามารถตรวจวัดค่า pH และปริมาณกลูโคสในปัสสาวะแมว และแสดงผลด้วยการเปลี่ยนสี บ่งบอกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรค เช่น โรคไต การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และโรคเบาหวาน ได้

การต่อยอดงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โครงการต้นแบบนักประดิษฐ์ไทย นักประดิษฐ์โลก ประจำปี 2565 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.คเนศ วงษ์ระวี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ คาดว่าในปลายปีนี้ งานวิจัยจะแล้วเสร็จ พร้อมมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายให้ได้ทดลองใช้กัน

ผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากมันสำปะหลัง “ไฮด์แอนด์ซีด” ถุงขนาด 2.7 กิโลกรัม ราคาถุงละ 220 – 250 บาท ใช้ได้ราว 3 อาทิตย์ต่อแมว 1 ตัว มีจำหน่ายที่ร้าน Pet Sop ในห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ ยังมีจำหน่ายที่รพ.สัตว์ทองหล่อ ชื่อแบรนด์ Dr.Choice ภายใต้การผลิตแบบ OEM (Original Equipment Manufacturing)

RANDOM

สอศ. จับมือ ศูนย์การศึกษาเกาหลี ประจำประเทศไทย (KEC ) และ ศูนย์ระบบอนุญาตการจ้างงาน (EPS) กระทรวงการจ้างงานและแรงงาน เปิดสอนภาษาเกาหลีในสถานศึกษา เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบถูกกฎหมาย

NEWS

error: Content is protected !!