แพทยศาสตร์ จุฬาฯ โชว์นวัตกรรมตรวจสมองเสื่อมแฝง รู้ตัวล่วงหน้า 10 ปี ชะลออัลไซเมอร์ยามสูงวัย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษานวัตกรรมตรวจเลือดหาสารบ่งชี้อาการสมองเสื่อมแฝง รู้ล่วงหน้า 10 ปี เตรียมตัวเพื่อชะลออาการอัลไซเมอร์เมื่อสูงวัย

ปัจจุบัน จำนวนผู้ที่มีอาการสมองเสื่อมทั่วโลกมีราว 50 ล้านคน เฉพาะในประเทศไทย พบผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมประมาณ 7 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้ 5 แสนคน เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ หากไม่มีมาตรการในการชะลอ หรือป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม จำนวนผู้ป่วยก็จะเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าทั่วโลกจะมีประชากรสูงวัยที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าภายในสามสิบปี ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย หนทางที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือชะลอการเกิดโรคให้ช้าที่สุด

นพ.ภูษณุ ธนาพรสังสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการนวัตกรรมการตรวจเลือดวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการป้องกันอัลไซเมอร์ว่า “โรคอัลไซเมอร์มีระยะฟักตัว 10 – 15 ปี ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการ เรียกได้ว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์แฝง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ สามารถทำงานได้ตามปกติ จนเมื่อการดำเนินโรคไปถึงจุดที่อาการเริ่มปรากฎ ผู้ป่วยก็สูญเสียเนื้อสมองไปมากแล้ว ตอนนั้นก็ยากจะฟื้นฟู หรือ กู้สุขภาวะของสมอง แต่ตอนนี้เรามีวิทยาการทางการแพทย์ที่ช่วยให้สามารถตรวจพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ได้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ ช่วยให้เราได้ดูแลตัวเองป้องกันอาการสมองเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้

สูงวัย เสี่ยงสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายโรค โรคที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของภาวะสมองเสื่อม คือ อัลไซเมอร์ รองลงมา คือ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์นั้นเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม มลภาวะ และความเครียด ฯลฯ

อาการสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ มักเกิดกับผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไป โดย 1 ใน 16 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ ในขณะที่ผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป อัตราส่วนของการพบผู้ป่วยโรคนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 6 คน  “ยิ่งคนอายุยืนขึ้น โอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมก็ยิ่งมากขึ้น”

ภาวะสมองเสื่อม เริ่มต้นจากอาการหลง ๆ ลืม ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมา เมื่อมีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะช่วยตัวเองได้น้อยลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง ทำให้ต้องมีผู้คอยดูแลตลอดเวลา และเมื่อการดำเนินโรคมาถึงระยะท้าย ผู้ป่วยก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้

พยากรณ์สมองเสื่อมแฝงก่อนเกิดอาการ
โดยทั่วไป การตรวจโรคอัลไซเมอร์ก่อนแสดงอาการ มี 2 วิธี ได้แก่
1. PET Scan (Positron Emission Tomography Scan) เป็นเทคโนโลยีการตรวจโรคทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยใช้ภาพวินิจฉัยการทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อภายในร่างกาย ค่าใช้จ่ายในการตรวจค่อนข้างแพง และใช้เวลาในการตรวจให้ครบ 2-3 วัน
2. การเจาะน้ำไขสันหลัง เป็นการตรวจวัดระดับโปรตีนที่ก่อโรคอัลไซเมอร์โดยการเจาะน้ำไขสันหลัง ซึ่งในประเทศไทยต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น วิธีการนี้มีผู้เข้าถึงและเข้ารับการตรวจน้อย เนื่องจากหลายคนกลัวเจ็บจากกระบวนการเจาะน้ำไขสันหลัง
แต่ปัจจุบัน อ.นพ.ภูษณุ เผยว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ ใช้เทคนิคทางอิมมูนวิทยา หรือ วิทยาภูมิคุ้มกันในการตรวจเลือดแทนการเจาะน้ำไขสันหลัง โดยใช้เครื่องตรวจที่มีชื่อว่า Simoa (Single molecule array) และเครื่อง LC-MS (Mass spectrometer) เพื่อตรวจสาร Phosphorylated Tau ในเลือด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัลไซเมอร์แฝง และสาร Neurofilament light chan ซึ่งเป็นการตรวจการสูญเสียเนื้อสมอง

วิธีนี้ช่วยตอบโจทย์ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยากว่า ลดความซับซ้อนและความเจ็บในการตรวจหาภาวะสมองเสื่อมแฝง และยังได้ผลการตรวจที่แม่นยำอีกด้วย

                                เครื่อง Simoa                                                         

เครื่อง LC-MS

ข้อดีของการเจาะเลือดตรวจอัลไซเมอร์แฝง พร้อมอธิบายเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการตรวจว่า “การตรวจก็ง่ายและปลอดภัย ผู้รับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำ หรืออาหาร ก่อนเข้ารับการเจาะเลือด ซึ่งพยาบาลหรือนักเทคนิคการแพทย์จะเจาะเลือดเพียง 10 ซีซีเท่านั้น และเป็นการตรวจเพียงครั้งเดียว ส่วนการวิเคราะห์ผลใช้เวลา 2 เดือนเท่านั้น” นอกจากนี้ ผู้รับการตรวจเลือดยังต้องทำแบบทดสอบความสามารถของสมองควบคู่ไปด้วย เพื่อดูต้นทุนทางสมองว่าอยู่ในระดับไหน

อ.นพ.ภูษณุ กล่าวว่า ผลจากการตรวจเลือดจะนำไปประมวลกับผลการทำแบบทดสอบ ก่อนจะแปรผลรวมอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแปรผลมีความซับซ้อน และต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ดูแลตัวเองลดโอกาสสมองเสื่อมแฝง
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นภาวะสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม มลภาวะ และอายุที่มากขึ้น หากดูแลตัวเองได้ดี ลดปัจจัยเสี่ยงเสริมต่าง ๆ ก็อาจจะลดโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ถึง 40% วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม ได้แก่

– ดูแลสุขภาพไม่ให้เป็นโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ หรือหากเป็นแล้ว ก็รักษาและควบคุมโรคประจำตัวดังกล่าวให้ดี

– ผู้ที่มีอาการหูหนวก หูตึง จะทำให้สมองไม่ได้รับการกระตุ้น ส่งผลให้สมองเสื่อมได้ง่าย จึงควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนช่วยป้องกันอาการสมองเสื่อม เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ควรเป็นอาหารทะเล งดของหวาน ของเค็ม ของทอด ทานไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอกหรือ ถั่วชนิดต่าง ๆ ฯลฯ งดสูบบุหรี่ ลดหรืองดการดื่มสุรา

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ ควรออกกำลังกายทุกวัน ๆ ละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง การออกกำลังกายสามารถลดภาวะสมองเสื่อมได้ เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายสร้างสารฟื้นฟูสมอง” อ.นพ.ภูษณุ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจรับบริการตรวจเลือดหาสารโปรตีนที่ก่อโรคอัลไซเมอร์แฝง สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ เพจศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ https://www.facebook.com/trceid สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณอดิภา โทร.0-2256-4000 ต่อ 3562, 08-4113-4443 อีเมล trc.eid@gmail.com Line ID : trceid

RANDOM

ว.นานาชาติ มธบ. ชูจุดแข็ง หลักสูตรจีนธุรกิจ “บุคลากร-จีนคอมมูนิตี้-ทุนเรียนจีนฟรี-พันธมิตรธุรกิจ” ไม่มีพื้นฐานภาษาจีนสามารถเรียนได้ เรียนจบบริษัทเครือข่ายพร้อมรับทำงานทันที

‘ดรามา’ เหมาเครื่องบินส่งนักกีฬาคนพิการไทยลุยศึกอาเซียนพาราเกมส์ที่กัมพูชาแล้ว “มีปัญหา” เป็นอุทาหรณ์ “ราคาถูกต้องอดทน” ด้านเลขาพาราลิมปิกไทย ขอชี้แจงบ้าง หลังโดนวิพากษ์ในการตัดสินใจหนนี้ ว่าดำเนินการเหมาะสมแล้ว

error: Content is protected !!