จุฬาฯ จับมือ กรมหม่อนไหม พัฒนางานวิจัยการเลี้ยงหนอนไหมเพื่อใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนากระบวนการเลี้ยงหนอนไหม และผลิตรังไหมอินทรีย์จากโรงเลี้ยงหนอนไหมต้นแบบ ให้มีมาตรฐานเหมาะสำหรับนำไปใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ และ นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เป็นประธานในพิธี ร่วมลงนามทางวิชาการ ระหว่าง ศ.ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คุณนุชจรี วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม และ ว่าที่ร้อยตรี ธีระนันท์ พิจารโชติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีหม่อนไหม เมื่อเร็ว ๆ นี้

รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความร่วมมือทางด้านงานวิจัยวิชาการกับ กรมหม่อนไหม มานานกว่า 17 ปีแล้ว การลงนามความร่วมมือระหว่าง จุฬาฯ กับ กรมหม่อนไหม ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้องค์ความรู้ที่กรมหม่อนไหมสนับสนุนให้กับจุฬาฯ มาโดยตลอด เกิดการต่อยอดเพื่อการใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการเลี้ยงไหม เพื่อให้ได้รังไหมที่มีความเหมาะสมสำหรับใช้ทางการแพทย์ โดยนำองค์ความรู้ของจุฬาฯ และความเชี่ยวชาญของกรมหม่อนไหม เข้ามาช่วยในเรื่องของการขึ้นทะเบียนมาตรฐานต่าง ๆ และโครงการสร้างความยั่งยืนให้กับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ด้วยการพัฒนาสูตรอาหารสำหรับหนอนไหม

ด้านความพร้อมของจุฬาฯ ในโครงการความร่วมมือครั้งนี้ รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวว่า จุฬาฯ มีความพร้อมในการนำงานวิจัยไปสร้างเป็นรายได้กลับคืนมาสู่มหาวิทยาลัย โดยจุฬาฯ มีบริษัท Spin – off ที่บ่มเพาะ โดย CU innovation Hub และมีบริษัท Engine Life ภายใต้ CU Engineering Enterprise ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ช่วยให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถทำงานวิจัยได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนของงานวิจัยเกี่ยวกับไหมไทยนั้น จุฬาฯ มีงานวิจัยเรื่องโปรตีนไหมที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการนำมาใช้รักษาโรคต่าง ๆ ความร่วมมือระหว่าง จุฬาฯ กับ กรมหม่อนไหม ในครั้งนี้ จะมีการต่อยอดงานวิจัยเรื่องโปรตีนไหม โดยเน้นที่การนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

“การเพิ่มคุณค่าไหมไทย โดยการนำผลผลิตจากเกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มาพัฒนาเป็นวัสดุทางการแพทย์ จะช่วยเพิ่มคุณค่าไหมไทย ซึ่งเป็นมรดกของประเทศ และมีส่วนช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคต” รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

ราชมงคลพระนคร เปิดรับบทความวิชาการด้านวิชาชีพการออกแบบ – สถาปัตยกรรม เพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (ประจำเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567) ส่งบทความเต็มรูปแบบได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 15 เม.ย. 67

error: Content is protected !!