ม.ขอนแก่น จับมือ พันธมิตร เปิดตัว “หุ่นยนต์ CPRobot” หนุนประชาชนเรียนรู้และฝึกฝนทักษะกู้ชีพที่ใดก็ได้ เพิ่มโอกาสรอดชีวิตผู้ประสบเหตุ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ร่วมกับ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ บริษัท เอเอ็ม หุ่นซีพีอาร์ จำกัด ลงนามการถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญา และเปิดตัว “นวัตกรรมเพื่อชีวิต หุ่น CPR ยางพาราอัจฉริยะ” CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) : หุ่น CPR อัจฉริยะสำหรับเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายอำนาจ เกิดอนันต์ กรรมการบริษัทเอเอ็ม หุ่นซีพีอาร์ จำกัด รศ.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวช ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผศ.สายยัญ สายยศ หัวหน้าโครงการฯ ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) : หุ่น CPR อัจฉริยะ นับเป็นผลงานอีกชิ้นเอกของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถช่วยเหลือผู้มีภาวะหัวใจหยุดเต้นให้มีชีวิตรอดได้ และไม่เกิดภาวะสมองตาย ผู้ที่จะช่วยชีวิตต้องมีความรู้เรื่องของ CPR เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอด ซึ่งนวัตกรรมเพื่อชีวิต หุ่น CPR ยางพาราอัจฉริยะ CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) : หุ่น CPR อัจฉริยะสำหรับเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพนี้ ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมด้าน Health AI ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น การนำวัสดุยางพารามาทำเป็นหุ่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถประมวลผลได้ เป็นผลงานของ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ และร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจ คือ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ และภาคเอกชน ที่จะนำอุปกรณ์นี้ไปต่อยอดในการผลิต เพื่อช่วยให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถผลักดันนวัตกรรมนี้เพื่อช่วยสังคม เพื่อต่อยอดเชิงนโยบายสุขภาพต่อไป

ทางด้าน รศ.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มข. กล่าวว่า เป้าหมายของการสร้างหุ่น CPRobot คือ ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ฝึกสอน โดยสามารถวางหุ่น CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) ในที่สาธารณะสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น โรงเรียน อบต. สถานีขนส่ง เป็นต้น ทำให้ผู้คนสามารถเรียนรู้ และฝึกทักษะของตนเองจนเกิดความมั่นใจที่จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปเป็นเครื่องมือฝึกสอนสำหรับผู้เรียนกลุ่มใหญ่ เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศูนย์ฝึกทหาร เทศบาล เป็นต้น

ด้าน นักวิจัย ผศ.สายยัญ สายยศ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่อว่า วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้พัฒนาร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการให้องค์ความรู้ด้าน CPR ซึ่งหุ่น CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) ถูกคิดค้นและพัฒนาด้วยแนวความคิดที่ว่า ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีผสานกับการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ จึงเลือกใช้ยางพาราเป็นหุ่นต้นแบบ โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก ศูนย์การเรียนรู้จากยางพารา จังหวัดของแก่น สำหรับการทำโมเดลหุ่น เพื่อทดสอบรุ่นแรก หุ่น CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) ถูกคิดค้นพัฒนาทั้งทางด้านซอฟต์แวร์ และคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ ซึ่งประมวลผลใน Single-board Computer ขนาดเล็ก เพื่อความสามารถในการประมวลที่ชาญฉลาด และรองรับความต้องการในอนาคต และทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจจับแรงกดที่ทางทีมพัฒนาขึ้น นอกจากนี้ ทางด้านซอฟต์แวร์ มีการคิดค้นอัลกอริทึม กระบวนการวิเคราะห์สัญญาณ (Signal Processing) และการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อความสามารถในการโต้ตอบ และตอบสนองกับผู้ใช้งานได้อย่างอัตโนมัติ และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) มีขีดความสามารถในการรองรับการประมวลผลที่หลากหลาย ตามความต้องการของตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลงานชิ้นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความสนับสนุน จากคณาจารย์ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ และองค์ความรู้ที่สำคัญจากบุคลากรทางการแพทย์

ส่วน รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวช ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเพิ่มเติมว่า การช่วยฟื้นคืนชีพหรือ CPR ไม่ใช่เป็นหน้าที่เฉพาะของบุคลากรทางการแพทย์ การช่วยฟื้นคืนชีพที่รวดเร็วในขณะที่เกิดหัวใจหยุดเต้นทันทีในที่เกิดเหตุ มีความสำคัญต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง เพราะสมองสามารถทนการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เพียง 4 นาที การที่จะทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ทันในช่วงเวลานี้ ถือเป็นความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น การสอนให้ประชาชนสามารถทำ CPR ได้ ถือเป็นภารกิจสำคัญ ที่จะสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยขึ้นมาได้ การสร้างนวัตกรรมหุ่น CPRobot (ซี-โปร-บ็อท) : หุ่น CPR อัจฉริยะสำหรับเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ จะทำให้เกิดการเรียน การฝึกฝนในการทำ CPR ให้แพร่หลาย ก่อให้เกิดสังคมที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หวังว่านวัตรกรรมนี้จะนำไปสู่การที่ประชาชนสามารถที่จะ CPR ได้อย่างถูกต้อง เพื่อที่จะเกิดสังคมที่ปลอดภัยต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะแพทยศาสตร์ จะต่อยอดนำไปฝึกอบรม การทำ CPR ให้แก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงเรียนรอบข้าง ในจังหวัดขอนแก่น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทางด้าน นายอำนาจ เกิดอนันต์ กรรมการบริษัทเอเอ็ม หุ่นซีพีอาร์ จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัท เอเอ็ม หุ่นกู้ชีพซีพีอาร์ นำนวัตกรรมนี้มาพัฒนาต่อยอด และสื่อสารให้กับประชาชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ได้รับรู้ว่า ปัจจุบันได้มีนวัตกรรมอันล้ำเลิศของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกสู่สายตาและการรับรู้ของประชาชน พวกท่านสามารถเรียนรู้วิธีปฏิบัติในการช่วยเหลือและกู้ชีพคนได้อย่างถูกต้องในการทำพีซีอาร์ เพื่อช่วยชีวิตคน บริษัทฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้ส่งต่อผลงานวิจัยนี้ ผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ากับชีวิตของประชาชนคนไทยและต่างประเทศ ขอขอบคุณทีมผู้บริหารและทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ช่วยสนับสนุนด้วยดีตลอดมา ซึ่งหลังจากนี้คงจะได้ร่วมมือกัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมหุ้นกู้ชีพซีพีอาร์ ให้ล้ำหน้าไปกว่าเดิม และผลักดันออกสู่ตลาด เพื่อที่ประชาชนจะได้รับรู้ว่า นวัตกรรมของคนไทย และมหาวิทยาลัยขอนแก่น นั้น ไม่แพ้ชาติใดในโลก

RANDOM

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมการประชุมวิชาการ “42 ปี พระบารมีแผ่ไพศาล เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารเป็นสุข” ประจำปี 2565

ศึกมาราธอน “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก พรีเซ็นต์ บาย โตโยต้า” ครั้งที่ 6 หรือ “วิ่งผ่าเมือง” ปิดฉากสวยสดงดงาม พร้อมตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างตรงจุด

error: Content is protected !!