เอ็นทีที เดต้า ผนึก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ปั้นคนไอทีทักษะ COBOL ป้อนตลาดแรงงานขาดแคลน ค่าตอบแทนสูง อนาคตไกล

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) ภายใต้ เครือบริษัท เอ็นทีที เดต้า คอร์ปอเรชัน จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจดิจิทัลและบริการไอทีชั้นนำระดับโลก เดินหน้าโครงการ “NTT DATA Critical Resource Preparation” ปั้นบุคลากรไอทีให้มีทักษะ COBOL จับมือ 3 สถาบันชั้นนำ ม.ศิลปากร เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น สร้างโอกาสนักศึกษาตอบโจทย์ตลาดยุคบุคลากรขาดแคลน ชี้เงินเดือนสูง เป็นที่ต้องการในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ธนาคาร, ประกันสังคม, กองทุนรวม, โรงแรม รวมถึงโรงพยาบาลชั้นนำทั่วโลก ยังจำเป็นต้องใช้ภาษา COBOL ระยะยาว

นางสาววรรลภา พันธ์ครุฑ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินโครงการ “NTT DATA Critical Resource Preparation” ร่วมกับ 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรทางด้าน COBOL รวมถึงความรู้และทักษะต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต่างกำลังเผชิญหน้ากับการขาดแคลนบุคลากร COBOL Programmer เนื่องจากการใช้งานภาษา COBOL ในการประมวลผลบนคอมพิวเตอร์เมนเฟรม (Mainframe) ยังมีความเสถียรและมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะธนาคารชั้นนําของโลกหลายแห่งยังใช้ ประมวลผลการทำธุรกรรม ข้อมูลจาก Tech channel พบว่า 70% ขององค์กรขนาดใหญ่ และธนาคารชั้นนําของโลก จำนวน 45 แห่ง จาก 50 แห่ง ยังใช้ COBOL รวมไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ อย่าง ประกันสังคม, กองทุนรวม, โรงแรม และ โรงพยาบาล ยังใช้เป็นระบบหลังบ้านเพื่อประมวลผลบนคอมพิวเตอร์เมนเฟรม

สวนทางกับการพัฒนาบุคลากรไอทีที่มีทักษะภาษา COBOL กลับถูกให้ความสำคัญลดลง ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเพียง 30% ทั่วโลก ที่ยังคงวิชานี้ไว้ในหลักสูตร ในขณะที่ประเทศไทยไม่ได้มีหลักสูตรดังกล่าว หรือ บางมหาลัยเป็นเพียงวิชาเลือก ในขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา COBOL ทั่วโลก มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี สะท้อนให้เห็นว่า บุคลากรด้าน COBOL Programmer กำลังขาดแคลนทั่วโลก โครงการ “NTT DATA Critical Resource Preparation” จะมุ่งพัฒนาบุคลากรไทยให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดี โดยบริษัทฯ จะสนับสนุนอาจารย์ ในด้านการจัดอบรมให้กับคณะอาจารย์ การตอบคำถามด้านเทคนิค ให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาเพิ่มเติม ในด้านของภาษา COBOL ในช่วงที่เพิ่งเริ่มเปิดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนานักศึกษาที่มีศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และมีโอกาสฝึกงานกับ บริษัท เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) โดยในสายงานดังกล่าวมีผลตอบแทนค่อนข้างสูง ผู้เริ่มต้นทำงานอายุงาน 0-2 ปี มีอัตราเงินเดือน 23,000 – 35,000 บาท ประสบการณ์ทำงานระดับกลาง อายุงาน 3-5 ปี มีอัตราเงินเดือน 35,000-60,000 บาท เมื่อมีประสบการณ์ทำงาน 5-10 ปี มีอัตราเงินเดือน 60,000-90,000 บาท และระดับผู้จัดการ อัตราเงินเดือน 90,000-150,000 บาท ทั้งนี้ ความสามารถในด้านอื่น ๆ ก็มีส่วนสำคัญในการปรับตำแหน่งและเงินเดือน อาทิ ความเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหา เป็นต้น

ด้าน ผศ. ดร. นรงค์ ฉิมพาลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า โลกยุคนี้สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานอยู่เสมอ ด้วยการศึกษาแนวโน้มของตลาดแรงงาน เช่น สายงานที่ต้องการ และความต้องการของผู้ว่าจ้างในการจ้างงาน รวมถึงทักษะที่ต้องการเพื่อทำงานในสายงานนั้น ๆ เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย สอดรับกับความต้องการตลาดแรงงาน ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว ไปพร้อมการพัฒนาทักษะความรู้นักศึกษาที่ตลาดต้องการ การเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกการทำงานจริง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานทันทีที่เรียนจบ ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาได้เพิ่มทักษะ ภาษา COBOL ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาได้ออกไปทำงานในสายงานนี้ได้ทั่วโลก

ทางด้าน ผศ.ดร.นิพัทธ์ จงสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีทักษะภาษา COBOL ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ยังช่วยเพิ่มโอกาสในตลาดแรงงานให้กับนักศึกษาได้เติบโต อีกทั้ง COBOL เป็นภาษาโปรแกรมระดับสูงที่มนุษย์สามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย และ ปูพื้นวิธีคิด(Logic) หรือ วิธีคิดด้าน Programming ก้าวสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพ ในการพัฒนาโปรแกรม หรือ แอปพลิเคชันที่ทันสมัยต่าง ๆ ทางมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร COBOL ที่มีความรู้และมีทักษะสูง สามารถทำงานจริงได้ แก้ไขปัญหาจริงได้ ตอบโจทย์ตลาดแรงงานทั่วโลก รวมทั้งมีโอกาสได้องค์ความรู้จาก เอ็นทีที เดต้า ผู้นำด้านธุรกิจดิจิทัล และบริการไอทีชั้นนำระดับโลก ที่มีความรู้และมีทักษะแบบมืออาชีพ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการทำงานจริงจากรุ่นสู่รุ่น (train the trainer) และสร้างเป็น COBOL Community ของบุคลากรในคณะฯ มหาวิทยาลัย ขยายผลสู่ชุมชนนักพัฒนาโปรแกรม นอกจากนี้ ทักษะด้านไอทีที่สำคัญในตลาดแรงงาน คือ ทักษะไอทีที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสานความเป็นดิจิทัลมากขึ้นได้ อาทิ ทักษะด้านไอทีที่จำเป็น เช่น AI, IoT, Machine Learning, Big Data, Data Science, Cloud Computing, Blockchain, Cyber Security Analytics เป็นต้น

ขณะที่ อาจารย์ อดิศักดิ์ เสือสมิง คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวต่อว่า ทักษะ COBOL เป็นตลาดเฉพาะ หรือ Niche market ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทั่วโลก ทั้งยังเป็นอาชีพที่มีผลตอบแทนสูง และมีโอกาสเติบโตในสายงานอย่างต่อเนื่อง โดยทางมหาลัยมีหลักสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จะเน้นทักษะสำคัญทางด้าน Software Development และ Networking และ หลักสูตร Digital Business Information Technology (BI) ทักษะสำคัญทางด้าน Data, Business Intelligent และ Business Integration ซึ่งล้วนเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นจากการสำรวจความต้องการของตลาดแรงงานด้าน IT และยังช่วยเสริม Soft Skill ที่สำคัญ สำหรับการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันให้ความสำคัญ

RANDOM

ข้อสอบครูผู้ช่วย แย่! นักวิชาการการศึกษาชี้ เห็นข้อสอบออกมาแล้วน่าห่วง หวังให้คนสอบแค่ท่องจำ แทนที่จะสร้างสรรค์กว่านี้ วอนกระทรวงศึกษา และผู้เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาแก้ไข

NEWS

“ครูมวยไทย” เนื้อหอม เตรียมเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมส่งเสริมกีฬามวยไทย ที่ซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง 7-9 พ.ค.นี้ หลังได้ใบประกาศนียบัตร ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!