นักวิจัย มจธ. เผยผลสำรวจภัยคุกคาม “นาก” ในพื้นที่ฝั่งอันดามัน 5 จังหวัดภาคใต้ การจับนากธรรมชาติไปเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นภัยคุกคามที่น่ากังวลและควรเร่งจัดการ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

“นาก” ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง นักวิจัย มจธ. เผยผลสำรวจภัยคุกคาม “นาก” ในพื้นที่ชุ่มน้ำฝั่งอันดามัน 5 จังหวัดภาคใต้ พบภัยคุกคามที่น่ากังวลและควรเร่งจัดการ ปัญหาคือการจับนากจากธรรมชาติไปเป็นเลี้ยง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้นากมีแนวโน้มลดลง เรียกร้องสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในพื้นที่ทับซ้อนของคนกับนาก

นาก เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ออกลูกครั้งละ 3-4 ตัว ธรรมชาติของนากมีทั้งที่รวมกลุ่มกันเป็นฝูงและอยู่ตัวเดียว พบได้บ่อยในพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะป่าชายเลนทางภาคใต้ของไทย นากมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ไม่มีการอนุญาตให้ล่า หรือ เพาะเลี้ยงเพื่อการค้า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีจำนวนคงเหลือเท่าใด แต่มีแนวโน้มลดลงจากภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำนากมาเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเสี่ยงทำให้นากอายุสั้นจากการเลี้ยงที่ไม่ถูกต้องตามนิเวศวิทยาของสัตว์

นาก จะเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีในธรรมชาติ การนำมาเลี้ยงโดยไม่เข้าใจเรื่องสุขภาพของนาก และเลี้ยงเหมือนสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ (เลี้ยงในกรง) อาจทำให้นากอายุสั้น และไม่ขยายพันธุ์ในรุ่นต่อ ๆ ไป หรือ พอเลี้ยงโตแล้วนำไปปล่อยก็มีโอกาสรอดยาก และเสี่ยงต่อการนำโรคไปสู่นากในธรรมชาติ

ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ และ นายอนุชา ขำจริง นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ทำวิจัยในโครงการประเมินภัยคุกคาม และการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นากอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย ฝั่งอันดามัน โดยได้รับทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ ทุนวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี เพื่อศึกษาภัยคุกคามที่ทำให้ประชากรนากลดลง ประเมินพื้นที่ที่มีระดับภัยคุกคามรุนแรง และเสนอแนวทางการจัดการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในการประเมินภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของนากในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล นักวิจัยใช้วิธีสัมภาษณ์ชาวบ้านเพื่อสอบถามถึงรูปแบบและระดับของภัยคุกคามในแต่ละพื้นที่ ทำการเก็บข้อมูลในระดับตำบลที่มีโอกาสพบนาก ดำเนินการสัมภาษณ์ทั้งหมด 640 ครั้ง ใน 270 หมู่บ้าน 117 ตำบล 25 อำเภอ โดยได้สัมภาษณ์ชาวบ้านที่เคยเกี่ยวข้องกับนาก ทั้งเคยพบเห็นหรือรู้เรื่องราวของนาก อาทิ คนหาปลา ผู้ใหญ่บ้าน ผู้สูงอายุ (คนเก่าแก่ในพื้นที่) จำนวน 1,035 คน

“ข้อมูลที่ได้ทำให้รู้ว่า นากที่มีจำนวนมากที่สุด มี 2 ชนิด คือ นากเล็กเล็บสั้น (Aonyx cinereus) และ นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata) คนกับนากอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ในอดีต คนส่วนใหญ่ในพื้นที่รู้จักนากและมีทัศนคติที่ดี เข้าใจธรรมชาติของนากที่เป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง ซึ่งในภาคใต้ฝั่งอันดามันมีป่าชายเลนผืนใหญ่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้มีอาหารในธรรมชาติเพียงพอสำหรับนาก จึงไม่ค่อยมีปัญหาความขัดแย้งกับคน แต่กิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การขยายพื้นที่ทำประมง บ่อปลา บ่อกุ้ง รวมถึงกิจกรรมท่องเที่ยวชายฝั่ง ทำให้ป่าชายเลนมีพื้นที่ลดลง หรือ สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของนาก ทำให้นากออกมาหาอาหารนอกพื้นที่ และเกิดความขัดแย้งกับคน แต่ปัญหาความขัดแย้งนี้ยังไม่รุนแรงนัก เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ว่าเป็นธรรมชาติของนากและไม่ได้รบกวนบ่อยจนกระทบรายได้ มีเพียงหาวิธีป้องกันเพื่อช่วยให้นากลงกินสัตว์เลี้ยงได้น้อยลง” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว

แต่ขณะเดียวกัน จากการวิเคราะห์และประเมินระดับภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของนาก จากข้อมูลที่ได้ พบว่า ประมาณร้อยละ 20 ของหมู่บ้านที่สำรวจมีระดับภัยคุกคามในระดับสูงและสูงมากต่อการอยู่รอดของนาก และสมควรต้องกำหนดเป็นพื้นที่ที่ต้องการการจัดการเร่งด่วน (Conservation hotspot) ในหลายตำบลของจังหวัดพังงา ตรัง สตูล และ กระบี่ ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีนากเล็กเล็บสั้น และ นากใหญ่ขนเรียบ ถูกฆ่าเพื่อนำเนื้อมากิน ถูกฆ่าเนื่องจากสร้างปัญหาให้มนุษย์ ถูกสุนัขกัด ถูกรถชน และที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ การถูกนำมาเลี้ยง

นายอนุชา ขำจริง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจในระหว่าง พฤศจิกายน 2563 ถึง กรกฎาคม 2564 พบว่า มีนากมากกว่า 67 ตัว ถูกนำมาเลี้ยง มีนากอย่างน้อย 7 ตัว ที่โดนฆ่าเพื่อนำมาประกอบอาหาร อย่างน้อย 4 ตัว โดนฆ่าเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งกับมนุษย์ อย่างน้อย 7 ตัว ตายจากการโดนสุนัขกัด และอย่างน้อย 3 ตัว ตายจากการโดนรถชน ซึ่งการลดจำนวนนากจากประชากรหลักในธรรมชาติด้วยภัยคุกคามเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบให้จำนวนนากในธรรมชาติลดลง จนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับท้องถิ่น

จากเดิมที่การเลี้ยงนากเกิดจากชาวบ้านไปเจอลูกนากอยู่ลำพังและกลัวจะมีสัตว์อื่นมาทำร้ายเลยนำกลับไปเลี้ยง หรือ บางครั้งไปพบนากได้รับบาดเจ็บจึงนำกลับมารักษา แต่จากกระแสความนิยมเลี้ยงนากในปัจจุบัน รวมถึงคลิปที่โชว์ความน่ารักของนากผ่านสื่อโซเชียล กระตุ้นให้เกิดกระแสความสนใจเลี้ยงนากมากขึ้น เริ่มมีการจับนากจากพื้นที่ธรรมชาติมาขายให้กับคนในพื้นที่และคนนอก โดยเฉพาะนากเล็กเล็บสั้น ซึ่งเมื่อย้อนไปในช่วงก่อนหน้าจะพบว่านากถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 – 2562 มีนาก 179 ตัว ถูกนำมาเลี้ยง และในปี 2553 – 2557 มีนาก 118 ตัว ถูกนำมาเลี้ยง

“บางคนเห็นจากคลิปก็คิดว่า นากน่ารักจึงอยากเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่คนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงนาก คือ เมื่อนากโตขึ้นไม่ได้น่ารักเหมือนลูกนาก นอกจากนี้ อาหารที่คนเลี้ยงให้ ยังไม่ใช่ปลา ปู หรือกุ้งสด ๆ แต่กลับเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วไป เช่น ข้าว ไข่ทอด ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ไส้กรอก อาหารคน อาหารแมว ซึ่งนอกจากจะทำให้อ้วนเกินไปแล้ว ยังทำให้นากมีอายุสั้น และนากที่นำมาเลี้ยงไม่สามารถขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้ ส่งผลให้จำนวนประชากรนากในธรรมชาติลดลง เพราะนากที่นำมาเลี้ยงทั้งหมดล้วนลักลอบนำออกมาจากพื้นที่ธรรมชาติ”

เพราะฉะนั้น นอกเหนือจากการศึกษาเพื่อหาแนวทางการจัดการที่เหมาะสม ที่ทางทีมวิจัยมีแผนจะดำเนินการต่อภายใต้โครงการวิจัยการวางแผนการจัดการอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำภาคใต้ เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์อย่างยั่งยืนแล้ว การทำให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักว่า “นากไม่ใช่สัตว์เลี้ยง” ก็เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำอย่างจริงจัง เพื่อให้สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กชนิดนี้ สามารถทำหน้าที่ของมันในธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศชายฝั่งที่สมบูรณ์ และเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

RANDOM

NEWS

สอศ. ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิด ‘ห้องปฏิบัติการภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลก’ ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนุนสร้างแรงงานคุณภาพสมรรถนะสูง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน

กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนนักออกแบบ ผู้ประกอบการ สมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2567 ‘Design Excellence Award 2024’ (DEmark) จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์ อย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 3 มิถุนายน 2567

error: Content is protected !!