สพฐ. ผนึก Dow และ สมาคมเคมีฯ หนุนเด็กไทยเรียนวิทย์แนวใหม่ นำการทดลอง “เคมีแบบย่อส่วน” สู่โรงเรียน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา” ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี เพื่อต่อยอดความสำเร็จโครงการห้องเรียนเคมีดาว ซึ่ง Dow และสมาคมเคมีฯ ได้ร่วมดำเนินงานมานานกว่า 9 ปี และเตรียมพร้อมขยายวิธีการเรียนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ไปยังโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. ผู้แทนจากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ฯ รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. เห็นความสำคัญของการยกระดับการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ การนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับครูและนักเรียน สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยแสดงผลของชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วน พบว่า มีผลเทียบเท่าห้องแล็บปกติ นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วน เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ทำให้ลดช่องว่างในวิชาวิทยาศาสตร์ได้อีกทางหนึ่ง เพราะนักเรียนจะมีโอกาสลงมือปฏิบัติจริงตามแบบเรียนในหลักสูตรที่กำหนดด้วยตนเอง สอดคล้องกับนโยบายของ สพฐ. ที่ต้องการขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มสมรรถนะผู้เรียน ในศตวรรษที่ 21

สำหรับเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-scale Iaboratory) เป็นวิธีการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ใช้อุปกรณ์พลาสติกขนาดเล็กต่าง ๆ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ใกล้ตัวและหาได้ง่ายในท้องถิ่น ใช้เวลาในการทดลองสั้นลง ประหยัดสารเคมี น้ำ และพลังงาน รวมทั้งลดของเสีย เพราะใช้สารเคมีปริมาณน้อยกว่านับพันเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับการทดลองเดียวกันที่ทำแบบปกติ มีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีค่าใช้จ่ายน้อย ใช้งานสะดวก ทำซ้ำได้หลายครั้งอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถทำการทดลองที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ซึ่งต้องลงทุนสูง จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้จากการทดลองวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนทั่วประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้และลงมือทำการทดลองด้วยตนเองทั้งในและนอกชั้นเรียน ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจ เข้าใจ และชื่นชอบในการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ได้ริเริ่มการส่งเสริมเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2556 มีคุณครูเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2,000 คน จาก 1,055 โรงเรียน และมีนักเรียนที่มีประสบการณ์การใช้ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนแล้วมากกว่า 3 แสนคน การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลการส่งเสริมเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนไปยังโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศต่อไปในอนาคต โดยในระยะแรกจะนำไปใช้ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. 100 โรงเรียนก่อน

“โครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา จะเพิ่มโอกาสให้ครูวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาในสังกัด สพฐ. สามารถนำเทคนิคไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับนักเรียนได้ทำการทดลองด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีใจรักในการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ที่มีความก้าวหน้า และเป็นสาขาอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการมากของประเทศในขณะนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ในปีแรกจะคัดเลือกโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 100 โรงเรียน พร้อมสนับสนุนค่าชุดทดลอง สารเคมีที่ใช้ในการอบรม ครอบคลุมอย่างน้อย 8 การทดลอง เพื่อให้ครูผู้ร่วมโครงการฯ ได้รับชุดทดลองทั้งหมดไปใช้สอนที่โรงเรียน พร้อมคู่มือการทดลอง และผู้ผ่านการอบรมในโครงการจะได้รับวุฒิบัตรเมื่อผ่านการฝึกอบรม สามารถนำชั่วโมงการอบรมบรรจุในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะของครูผู้สอนต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ด้าน นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวว่า การที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ให้ความสนใจส่งเสริมการเรียนการสอนแนวใหม่นี้ จะช่วยให้โรงเรียนจำนวนมากสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงได้อย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในฐานะผู้ร่วมริเริ่มโครงการห้องเรียนเคมีดาว มีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ สพฐ. เล็งเห็นความสำคัญของการทดลองแบบ “ย่อส่วน” เพื่อ “ขยายโอกาส” ทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดย สพฐ. จะเป็นกำลังสำคัญในการขยายผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคต

ขณะที่ ศ.ดร.สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สมาคมฯ เป็นผู้ริเริ่มใช้เทคนิคปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วนในประเทศไทย โดยได้ร่วมกับ Dow ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ  ทั้งในด้านการให้องค์ความรู้ การประยุกต์ใช้การทดลองเคมีแบบย่อส่วน มาเสริมการเรียนการสอนในโรงเรียน การส่งเสริมการเรียนรู้และทดลองจริงของนักเรียนในโรงเรียน และการสร้างเครือข่ายครูต้นแบบเคมีแบบย่อส่วน เพื่อนำไปต่อยอดองค์ความรู้ได้มากขึ้น มีการร่วมกันจัดประกวดโครงงานปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในแต่ละปีมาตลอด 7 ปี รวมทั้งยกระดับและเผยแพร่กิจกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยความร่วมมือในครั้งนี้ สมาคมฯ จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ จัดหาบุคลากรผู้ชำนาญที่เหมาะสมกับหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาครูต้นแบบ รวมทั้งยังจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในการประเมินผลการเรียนการสอนตามแนวทางการสอนแบบใหม่ของโครงการฯ อีกด้วย

RANDOM

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รับสมัครพนักงาน 3 อัตรา ‘เจ้าหน้าที่ฝ่าย สควค. – นักวิชาการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ – เจ้าหน้าที่ฝ่าย พสวท.’ สมัครได้ถึง 30 พ.ย. นี้

จับตาสมาคมมวยสากลของไทย จะตัดสินใจฝ่าวิกฤติด้วยการยืนข้างใด ระหว่างการเลือกเป็นสาวก “ไอบ้า” ต่อไป หรือ ทิ้งลูกพี่เก่าไปซบองค์กรมวยสากลโลกแห่งใหม่ เพื่อเดินตามทางโอลิมปิกสากล

error: Content is protected !!