กรมควบคุมโรค ห่วงเด็กจมน้ำช่วงหน้าร้อน หลังพบสถิติ 5 ปีที่ผ่านมา เด็กจมน้ำสูงถึง 900 กว่าราย แนะผู้ปกครองส่งบุตรหลานเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อนและเป็นช่วงที่เด็กปิดเทอม เด็กๆ อาจชวนกันไปเล่นน้ำตามลำพัง โดยขาดการดูแลจากผู้ปกครอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้ ข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 – 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม) จำนวน 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย เดือนเมษายน พบเหตุการณ์จมน้ำมากที่สุด 65 ราย รองลงมา คือ เดือนมีนาคม 64 ราย และ เดือนพฤษภาคม 63 ราย

แหล่งน้ำที่พบว่าเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ (ร้อยละ 76.5) เขื่อน/อ่างเก็บน้ำ/ฝาย (11.1) ทะเล (5.3) ภาชนะภายในบ้าน (3.5) และสระว่ายน้ำ/สวนน้ำ (1.8) โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด (ร้อยละ59.4) รองลงมาคือ พลัดตกลื่น (21.5) ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ขาดการดูแลจากผู้ปกครอง และขาดความรู้เรื่องแหล่งน้ำเสี่ยง

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค มีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในหน้าร้อนนี้ คือ 1. เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรได้เรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เนื่องจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ที่ผ่านมา เด็กขาดโอกาสในการเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำหรือจมน้ำที่ถูกต้อง 2. เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่แขนเอื้อมถึงหรือคว้าถึง ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด และ 3. ขอแนะนำให้ประชาชนทุกคนสวมเสื้อชูชีพ หรือ ใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ

ทั้งนี้ ชุมชนควรมีการเฝ้าระวังแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงในชุมชน ห้ามให้เด็กลงไปเล่นน้ำตามลำพังโดยเด็ดขาด และสถานที่ที่เปิดให้บริการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำบริเวณแหล่งน้ำที่เพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย กำหนดบริเวณสำหรับเล่นน้ำ มีเจ้าหน้าที่ lifeguard คอยดูแล แบ่งเขตพื้นที่สำหรับเล่นน้ำ หรือ ทำกิจกรรมทางน้ำที่ปลอดภัย ติดป้ายแจ้งเตือน เช่น ห้ามลงเล่นน้ำ น้ำลึก น้ำวน และจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำบริเวณแหล่งน้ำ ติดป้ายขอความช่วยเหลือ เบอร์ 199 หรือ หากได้รับบาดเจ็บ โทร. 1669

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค

RANDOM

NEWS

error: Content is protected !!