กรมสุขภาพจิต ร่วมสร้างเครือข่ายดูแลจิตใจ ผลิตเด็กอาชีวะสุขภาพจิตดี มีความสุข

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมลงนามพิธีบันทึกความร่วมมือ “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์เจษฏา โชคดำรงสุข ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข และอดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมเป็นเกียรติ นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวรายงาน และมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมสุขภาพจิต และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธี เมื่อเร็ว ๆ นี้

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยกับนักเรียนนักศึกษา ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เรียนต้องปรับตัวกับสถานการณ์ ทั้งการเรียนในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ทำให้ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนตามสถานการณ์ เกิดความเครียด ความวิตก และเกิดความกดดัน จากความร่วมมือการดำเนิน “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ในวันนี้ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ของผู้เรียนอาชีวศึกษา รวมถึงครู บุคลากร ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลใกล้ชิดผู้เรียน ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพทางสุขภาพจิตที่ทันต่อยุคสมัย และเกิดสุขภาพจิตใจที่มีคุณภาพที่ดี โดยส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการดูแลตนเอง ส่งเสริม ป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิต การดูแลช่วยเหลือ และการติดตาม ซึ่งการที่มีสุขภาพจิตที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินชีวิตที่ดี เกิดทัศนคติเชิงบวก เกิดความสุขในชีวิต พร้อมเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นที่พึ่งให้แก่สังคม โดยการดำเนินการครอบคลุมสถานศึกษาสังกัด สอศ. ทุกแห่ง

ด้าน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตในปี 2565 พบว่า วัยรุ่นและเยาวชน ในช่วงอายุ 15-24 ปี มีคะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ยต่ำที่สุด โดยในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเครียดในระดับสูง มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มประชาชนวัยทำงานและวัยสูงอายุ ทั้งนี้ ยังพบอีกว่า นักเรียนนักศึกษาเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด เพิ่มขึ้นตลอดช่วงอายุที่เป็นวัยรุ่น และสูงสุดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งหากเยาวชนไม่ได้รับการสร้างเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือ ต้องเผชิญกับปัญหาเพียงลำพัง อาจนำไปสู่ปัญหาทั้งกับตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ การดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาให้มีความรู้และทักษะในการดูแลจิตใจตนเอง พร้อมกับการส่งเสริมให้เห็นคุณค่าในตนเอง ร่วมไปกับการดูแลช่วยเหลือทางจิตใจให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นสิ่งที่จะช่วยให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้น

โดยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่มีบทบาทโดยตรงในการดูแลนักเรียนนักศึกษา เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงเป็นโอกาสสำคัญยิ่งในการจับมือร่วมกันดูแลนักเรียน นักศึกษา ในสังกัดอาชีวศึกษา ให้ได้รับการดูแลสุขภาพจิตได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง จะช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง พร้อมทั้งเติมความเข้มแข็งทางใจให้กับนักเรียน นักศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินการดังกล่าวได้เป็นรูปธรรม กับ มหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทุกแห่งทั่วประเทศมาแล้ว โดยได้มีการมอบหมายให้ศูนย์สุขภาพจิตและโรงพยาบาลหรือสถาบันในสังกัดกรมสุขภาพจิตในพื้นที่ ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานการอบรมเพิ่มทักษะการให้คำแนะนำปรึกษา รับดูแลช่วยเหลือส่งต่อสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อการดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจให้กับนักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ พร้อมรายงานผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทางด้าน นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นักเรียนนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดแรงงาน ช่วยสร้างบุคลากรเฉพาะทางในสายอาชีพต่าง ๆ ภายใต้ความเข้มแข็งของร่างกายและจิตใจ โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ จะผลักดันการดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจให้นักศึกษาในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทุกแห่ง ทั้งนี้ หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตและกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต และติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ครบทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ

RANDOM

error: Content is protected !!