สพฐ. ร่วมมือ JICA เฟ้นหาเด็กเก่งตัวแทนประเทศไทย ร่วมแข่งขันออกแบบเกม Thailand-Japan Game Programming Hackathon 2022 ที่ประเทศญี่ปุ่น

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการแข่งขัน Thailand-Japan Game Programming Hackathon 2022 (TJ-GPH2022) รอบคัดเลือกประเทศไทย (Preliminary round) ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเฟ้นหาสุดยอด 3 ทีมชนะเลิศ เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ กับ สถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเดือนธันวาคม 2565

การแข่งขันในครั้งนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการจาก องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA ในการจัดส่งอาสาสมัคร JOCV ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มาประจำที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นครูผู้ช่วยสอนในรายวิชาคอมพิวเตอร์และรายวิชาที่เกี่ยวข้อง จากความสำเร็จของความร่วมมือดังกล่าว อาสาสมัคร JOCV ได้คิดริเริ่มการจัดกิจกรรมการแข่งขันการออกแบบเกม ด้วยโปรแกรม Unity ขึ้น ภายใต้ชื่องาน Thailand-Japan Game Programming Hackathon ระหว่าง นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และ นักศึกษาสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความสนใจด้านการเขียนโปรแกรมผ่านการพัฒนาเกมส์ของนักเรียน และพัฒนาการรับรู้ผ่านการมีส่วนร่วมในการแข่งขันระดับนานาชาติ และส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมและนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อต่อยอดความสามารถและเตรียมความพร้อมในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

สำหรับ การจัดการแข่งขัน Thailand-Japan Game Programming Hackathon ในปี 2022 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยรอบคัดเลือกของประเทศไทย (Preliminary round) ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 ตุลาคม 2565 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี โดยในปี 2022 การออกแบบเกมจัดขึ้น ภายใต้หัวข้อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG ที่ 13 หัวข้อ Climate Action มีระยะเวลาในการออกแบบเกมส์ด้วยโปรแกรม Unity ภายในเวลา 3 วัน รวมจำนวน 24 ชั่วโมง และนำเสนอผลงานเกมเป็นภาษาอังกฤษ ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม PPNITY จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ปทุมธานี ลพบุรี และเลย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ZA BOIZU จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก เชียงราย ปทุมธานี และบุรีรัมย์ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม UNIQUE จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช พิษณุโลก ลพบุรี และสตูล ทั้งนี้ ทีมชนะเลิศที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายปีนี้

RANDOM

error: Content is protected !!