“สุภัทร” ปลัด ศธ. รับไม้ต่อ “สุทธิชัย” นั่งแท่นประธานแก้หนี้สินครู ชู 7 เรื่องต้องเร่งขับเคลื่อน เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้สินครูบรรลุผล

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ได้ลาออกจากตำแหน่ง ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการฯ แทน เพื่อสานต่อการขับเคลื่อนงานให้เกิดความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า “ปัญหาหนี้สินครู” คนส่วนใหญ่มักด่วนสรุปว่า ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ตัวของครูที่ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งก็อาจมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่เป็นเพียงส่วนเดียว ในทางกลับกัน เจ้าหนี้ของครูที่ให้สินเชื่ออย่างไม่เป็นธรรม คิดดอกเบี้ยเงินกู้แพงกว่าการเป็นสินเชื่อสวัสดิการ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ครูต้องตกอยู่ในวังวนของปัญหาหนี้สิน

นอกจากนี้ ศธ.ในฐานะนายจ้างของครู เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะทำหน้าที่ตัดเงินเดือนนำส่งให้เจ้าหนี้ โดยไม่ได้ดูว่าครูมีเงินเดือนหลังจากหักจ่ายชำระหนี้แล้ว (Residual Income) เพียงพอในการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีหรือไม่ ถือเป็นอีกต้นตอหนึ่งที่ทำให้ครูต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ เมื่อขาดสภาพคล่อง

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบให้เกิดประสิทธิผล จึงจำเป็นที่จะต้องมองในภาพรวมทั้ง 3 ส่วน ทั้งในส่วนของตัวครู ส่วนของเจ้าหนี้ครู และส่วนของนายจ้าง หรือ ศธ. ซึ่งจะเป็นสื่อกลางให้สองส่วนแรก โดยจะมีเรื่องสำคัญที่ ศธ. จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเร็ว 7 เรื่อง ได้แก่

1.การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สมกับเป็นสินเชื่อสวัสดิการ ตัดเงินเดือนของข้าราชการ
2.การทำให้ครูมีเงินเหลือใช้หลังจากชำระหนี้ ไม่น้อยกว่า 30% หรือไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,000 บาท
3.การคุมยอดหนี้ที่ครูจะสามารถกู้ได้ ไม่ให้เกินศักยภาพที่จะชำระคืนได้ด้วยเงินเดือน โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นผู้ดูแลหน่วยตัดเงินเดือนครู จะเป็นจุดศูนย์กลางประสานช่วยครูแก้ไขหนี้สินก้อนต่าง ๆ
4.การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้ทุกรายสามารถแบ่งเงินเดือน 70% ได้อย่างเพียงพอ โดยนายจ้างหรือ ศธ. จะเข้ามาเป็นคนกลางที่จะช่วยเจรจา เพราะมีอำนาจต่อรอง
5.การประกาศกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตัดเงินเดือน ซึ่งกำลังเร่งหาแนวทางการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ ให้มีการตัดเงินต้นก่อน เพื่อลดโอกาสที่ครูจะเป็นหนี้ไปจนตาย และกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ เช่น ให้หักสวัสดิการ ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. ในลำดับแรก ในกลุ่มเดียวกับการหักให้สหกรณ์ฯ
6.การแก้ปัญหากรณีครูผู้กู้และผู้ค้ำประกันถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดย ศธ.จะเป็นตัวแทนครูขอให้ศาลช่วยให้ความเป็นธรรมในการไกล่เกลี่ยคดีที่ครูถูกฟ้อง
7.การช่วยครูแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

ปลัด ศธ. กล่าวว่า ปัจจุบัน ศธ.จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศแล้ว 558 สถานี คือ ระดับจังหวัด 77 แห่ง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา 245 แห่ง และระดับส่วนกลาง เช่น สป./กศน./ก.ค.ศ./สอศ. 236 แห่ง เพื่อให้สามารถรองรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือแก้หนี้ จำนวน 41,128 คน ได้อย่างครอบคลุม โดยขณะนี้สถานีแก้หนี้ทุกแห่ง กำลังวิเคราะห์ข้อมูล และติดต่อขอข้อมูลจากผู้ลงทะเบียน เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ จัดทำข้อมูลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ

“ศธ.จะประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของสถานีแก้หนี้ครู แนวทางการแก้หนี้ครูของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบทุกจังหวัด รวมทั้งแนวทางปฏิบัติที่สำคัญให้เพื่อนครูได้รับทราบเป็นระยะ ให้เชื่อมั่นว่าแนวทางดำเนินงานแก้หนี้สินครูทั้งระบบเกิดขึ้นได้จริง เพื่อให้หนี้สินของครูทั่วประเทศที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ 4 แสนคน และที่เกษียณอายุราชการแล้วอีก 5 แสนคน รวม 9 แสนคน รวมยอดหนี้สวัสดิการหักเงินเดือนข้าราชการ 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 108 แห่ง ยอดหนี้ 9 แสนล้าน และสถาบันการเงิน 3 แห่ง ธนาคารออมสิน/อาคารสงเคราะห์/กรุงไทย ยอดหนี้ 5 แสนล้านบาท ได้รับการแก้ไขตามแนวทางดังกล่าว โดยมีหนี้เสียหรือเป็น NPLs ไม่เกิน 1-2% เท่านั้น” ปลัด ศธ.กล่าว

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!