หลักสูตรควบ ป.ตรี-โท จุฬาฯ ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สร้างบัณฑิตคุณภาพตอบโจทย์ทันตสาธารณสุขของประเทศ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของบัณฑิตทันตแพทย์ จุฬาฯ ให้มีความรู้ความสามารถด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาด้านทันตสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักสูตรควบข้ามระดับ ทันตแพทยศาสตร์ และสาธารณสุขมหาบัณฑิต สามารถสำเร็จการศึกษาทั้งสองปริญญา ได้ในระยะเวลา 6 ปี เป็นการสร้างบัณฑิตทันตแพทย์แนวใหม่ ที่จะมีบทบาทในการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศไทยในอนาคต นอกจากนี้ยังสร้างผลงานวิจัยที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านสาธารณสุข ทั้งในระดับชุมชน ระดับชาติ ไปจนถึงระดับนานาชาติ

ด้าน ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้ จะใช้ระยะเวลาเพียง 6 ปี ได้ทั้ง ปริญญาตรี ทันตแพทยศาสตร์ และปริญญาโท วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ในการเป็นทันตแพทย์ที่พร้อมไปทำงานแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชุมชน ตลอดจนทำงานวิจัย และรองรับความต้องการทันตแพทย์ในระบบสาธารณสุข ที่ยังประสบปัญหาเรื่องการกระจายทันตแพทย์ไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ

“ภาพรวมของประเทศไทย ทันตแพทย์ 1 คน ดูแลประชาชน 6,000 คน แต่ในบางภูมิภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทันตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชาชนถึง 10,000 คน นับว่าสูงมาก ความร่วมมือของหลักสูตรควบข้ามนี้ จะช่วยสร้างทั้งทันแพทย์และนักวิจัยในคนเดียวกัน รวมถึงเป็นการค้นหานิสิตทันตแพทย์ที่สนใจงานด้านสาธารณสุขจริง ๆ เพื่อออกไปทำงานด้านทันตสาธารณสุขในชุมชนและท้องถิ่น สามารถนำความรู้ด้านสาธารณสุขที่มีมุมมองกว้างมากขึ้น มาทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ เป็นการยกระดับ มาตรฐานบริการด้านทันตสุขภาพของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างสุขภาพโดยรวมของประชาชนอย่างยั่งยืน หลักสูตรนี้เริ่มดำเนินการในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565 สามารถรับนิสิตได้ 5 – 10 คนต่อปี” ศ.ทพ.ดร.พรชัย กล่าว

ทางด้าน ศ.ดร.สถิรกร พงศ์พานิช คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การผลิตบัณฑิตในหลักสูตรควบข้ามระดับ ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และ สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต เป็นการผลิตทันตแพทย์ที่มีความสามารถในการดูแลชุมชนไปในเวลาเดียวกัน บัณฑิตในหลักสูตรจะมีมุมมองเกี่ยวกับชุมชนได้ครบทุกมิติ เป็นการเสริมการทำงานระดับสาธารณสุข และการทำงานวิจัยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาบัณฑิต จุฬาฯ ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความพร้อมทั้งเรื่องการรักษาฟัน และการดูแลประชาชน หรือประชากรในชุมชนของประเทศได้อีกด้วย

“สาธารณสุขศาสตร์เป็นสหสาขาที่เกี่ยวข้องกับทุกศาสตร์และทุกภาคส่วน ผู้ที่เข้ามาเรียนต้องเป็นผู้ที่ค่อนข้างเปิดกว้างต่อสังคม มีความรู้สึกที่อยากจะช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงชุมชน หลักสูตรนี้จะช่วยหล่อหลอมให้นิสิตเห็นว่า การช่วยเหลือสังคมมีผลดีอย่างไร เพื่อที่จะได้เข้าใจชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการ การทำวิจัย เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนได้” ศ.ดร.สถิรกร กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!