สมาคมกีฬาคือกลไกการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาไปใช้ที่สำคัญ วันนี้ผู้นำ ผู้ฝึกสอน ควรพิจารณาประโยชน์อย่างเข้าใจและเชื่อมั่น

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

บิ๊กกีฬาระดับชาติให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่จำเป็นต้องนำลงสู่วงการกีฬาให้มากขึ้นและมากที่สุด ก็เป็นโอกาสดีที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับกูรูหลาย ๆ ท่านทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งท่านเหล่านี้ที่ต้องเรียกว่าระดับเกรดเอ.ของศาสตร์ด้านนี้ของไทยและของระดับโลกด้วยซ้ำไป 3 ท่าน ก็ได้ข้อสรุปและนำมาถ่ายทอดง่าย ๆ (ด้วยตัวเอง) ว่า ทำไมวิทยาศาสตร์การกีฬายังไม่เข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับวงการกีฬา เป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

1.ผู้นำสมาคมไม่ให้ความสำคัญ...เริ่มต้นจากผู้นำสมาคมกีฬาหรือนายกสมาคมกีฬาพร้อมทั้งฝ่ายบริหารของสมาคมกีฬา ไม่ว่าจะเป็นสมาคม ชมรมระดับใดๆ ก็ตามยังไม่มีความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากศาสตร์แห่งวิทยาศาสตร์การกีฬา จึงไม่ได้มุ่งเน้นหรือกำหนดการนำมาให้ทีมงานในสมาคมกีฬาปฏิบัติอย่างชัดเจน

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เยี่ยมชมและให้กำลังใจทีมงานวิทย์กีฬาช่วงซีเกมส์

2.ผู้ปฏิบัติไม่เปิดรับศาสตร์ใหม่ๆ….ผู้ฝึกสอนหรือหัวหน้าสตาฟฟ์ทำงาน ที่จะเรียกเป็นอย่างก็ตามซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่มีความทันสมัยกับศาสตร์นี้ นั่นอาจจะรวมถึง ใจที่อาจจะยังไม่เปิดรับด้วยความคิดเก่า ๆ ที่เคยปฏิบัติมามองว่าตัวเองรู้แล้วและมีความสามารถด้านการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาแล้วจึงไม่เปิดรับศาสตร์ทางด้านนี้ใหม่ๆ ที่มีความทันสมัยไปใช้ ใช้แค่ฐานความรู้เก่านำปฏิบัติต่อๆ ไป เนื่องจากไม่รู้ ขี้เกียจหรือไม่ยอมรับว่าศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์การกีฬานั้นมีการพัฒนาตลอด มีศาสตร์และความรู้ใหม่เกิดขึ้นเสมอ

3.ผู้ปฏิบัติเปิดรับแต่ยังใช้ไม่เป็น….ผู้ฝึกสอนหรือสตาฟฟ์ มีความสนใจในการเรียนรู้และนำวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัยไปใช้ แต่ไม่เข้าใจศาสตร์เบื้องลึกของการนำไปใช้ที่ซ่อนอยู่อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่นการเรียนรู้แบบฝึกแล้วนำไปใช้โดยรวมทั้งทีม แต่ไม่ได้คำนวณถึงความเหมาะสมที่จะนำไปใช้กับนักกีฬาแต่ละคน ซึ่งแต่ละรูปแบบหรือวิธีการใช้ของนักกีฬาแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน รูปแบบการใช้จึงต้องแตกต่างกันในแต่ละคน

ทีมวิทย์กีฬา กกท.นำโดย อ.สืบสาย บุญวีรบุตร และ อ.เจริญ กระบวนรัตน์  ในศูนย์อำนวยการทีมนักกีฬาไทยในศึกซีเกมส์

4.ทำไมผู้ฝึกสอนควรต้องใช้...คือ นอกเหนือจากประโยชน์ต่อทีมดังที่กล่าวมาแล้วนั้นการที่ผู้ฝึกสอนนำวิทยาศาสตร์การกีฬาที่แท้จริงมาใช้ด้วยการให้ความสำคัญนั้น เมื่อนักกีฬาระดับชาติได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว หากต่อไปเขาพ้นวาระรับใช้ชาติและออกไปเป็นผู้ฝึกสอนตามระดับและโอกาสต่าง ๆ เขาก็จะได้นำความความรู้จากเชื่อถือ ความมั่นใจในศาสตร์นี้ไปถ่ายทอดต่อๆ ไป ก็จะถือเป็นการเรียนรู้และต่อยอดสิ่งที่ดีกระจายต่อๆกันไป

5.นำวิทยาศาสตร์การกีฬาสู่รากหญ้า...กูรูด้านนี้ ได้เปิดใจว่าเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา กับนักกีฬา เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก การที่การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานองค์กรกีฬาอื่น ๆ มีศูนย์ที่สมบูรณ์มีบุคลากรที่พร้อมสรรพ นั้นหากนับเรื่องของความจำเป็นนั้นยังไม่พอ เพราะวิทยาศาสตร์การกีฬาจะต้องอยู่คู่นักกีฬาตั้งแต่เด็กๆ ฉะนั้นในภาพรวมรัฐจึงต้องมองว่าเราจะนำศาสตร์วิทยาศาสตร์การกีฬาลงไปให้ถึงระดับเด็กๆ กีฬารากหญ้าเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของผู้ฝึกสอนระดับนั้นได้อย่างไร เพราะถ้าเริ่มต้นดีมีความเข้าใจร่วมกันได้ การต่อเนื่องมาถึงศูนย์ของการกีฬาแห่งประเทศไทยก็จะเป็นสิ่งที่ดีและสมบูรณ์ต่อเนื่องกัน

ทีมนักวิทย์กีฬา กกท.นำโดย ผอ.สุรศักดิ์ เกิดจันทึก ทำงานแข็งขันในซีเกมส์

6.โดยสรุป…เรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา ต้องมาจากใจยอมรับว่าเป็นความสำคัญก่อน ทั้งผู้นำสมาคม ผู้นำการปฏิบัติ เมื่อยอมรับมาใช้นั้นจะต้องมีการศึกษาความรู้ด้านนี้ต่อเนื่องและทันสมัยเสมอ เมื่อศึกษามีความรู้แล้วก็ต้องนำไปใช้ให้ถูกต้อง และหากจะดีภาครัฐควรจัดแจงกระจายความรู้ศาสตร์นี้ให้ถึงทุกกลุ่มกีฬาระดับรากหญ้าให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์โดยรวมทั้งกระบวนการกีฬา

ส่วนตัวเชื่อว่า หากมีความคล้องจองกันในกระบวนการเช่นนี้ เพื่อเปิดทางให้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับการสร้างทีมแล้ว วงการกีฬาไทยจะพัฒนาได้ไกลกว่านี้ แต่“วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ไสยศาสตร์” ที่จะเห็นผลทันตา แต่คำว่าวิทยาศาสตร์คือข้อเท็จจริงที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายควรต้องยอมรับ นำไปใช้อย่างอดทนและเชื่อมั่นต่อการเห็นผลในระยะยาวที่จะเป็นรากฐานในงานกีฬาชาติต่อไป

RANDOM

error: Content is protected !!