มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) นําผลงานนวัตกรรมจากความเชื่อสู่การรักษ์โลก ภายใต้โครงการวิจัย ‘ศรีชล‘ วัดเจดีย์ ไอ้ไข่ ร่วมโชว์ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2568 มุ่งสร้าง Soft Power ของประเทศ
รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า โครงการวิจัย “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมฐานความเชื่อโดยรอบสันทรายโบราณเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่อําเภอสิชล นครศรีธรรมราช หรือ โครงการ ‘ศรีชล’ จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นําเสนอ 3 นวัตกรรมสําคัญ ที่เปลี่ยนขยะจากการแก้บนให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมี วัดเจดีย์ และ ไอ้ไข่ เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงความรู้ ภูมิปัญญา และพลังแห่งศรัทธาท้องถิ่น ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568” ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษานักวิจัย และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมชมนิทรรศการจํานวนมาก พร้อมคว้ารางวัลชมเชยจากเวทีดังกล่าวด้วย
รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า 3 นวัตกรรมจากความเชื่อสู่การรักษ์โลก ประกอบด้วย 1) “กระเป๋าหางประทัด” แปรรูปหางประทัด 999 ชิ้นต่อกระเป๋า 1 ใบ ผสานเทคนิคจักสานดั้งเดิมให้กลายเป็นแฟชั่นร่วมสมัย 2) “อิฐต่อ ก่อบุญ” โดยนําเศษประทัด และไก่ปูนปั้น มาผลิตอิฐก่อสร้างคุณภาพสูง และ 3) “Art Toy ไก่ศรัทธา” แปรรูปเศษไก่ปูนปั้นเป็นตัวการ์ตูน “น้องร่ำ รวย น้องร่ายรำ และ น้องร่าเริง” ที่ผสมผสานศิลปะโนราห์และวัฒนธรรมไทย-จีน
โครงการดังกล่าว ถือเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาขยะจากกิจกรรมทางศาสนาอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริม “Soft Power” ของไทยผ่านผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนความเชื่อศรัทธา ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างชัดเจน ที่สําคัญยังแก้ปัญหาขยะล้นวัดอย่างยั่งยืนอีกด้วย
“ผลิตภัณฑ์ “กระเป๋าหางประทัด” ต้นทุน 200-700 บาท ชาวบ้านสามารถขายได้ 499-1,999 บาท ส่วน “อิฐต่อ ก่อบุญ” สร้างรายได้เสริม 15,000 บาทต่อเดือน ช่วยลดค่าจัดการขยะลงได้อย่างน้อย 50,000 บาทต่อปี” รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย