เด็กไทยเจ๋ง คว้า 10 รางวัล โครงงานวิทยาศาสตร์ฯ ระดับโลก ISEF 2022 ที่สหรัฐอเมริกา

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เด็กไทยเก่ง ไม่แพ้ชาติใดในโลก คำพูดนี้เห็นที่จะไม่ผิด หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ Station Thai เชื่อว่ายังไปได้อีกไกลแน่นอน

ล่าสุด นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้ร่วมชื่นชม ยินดีกับความสำเร็จของนักเรียนไทย ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศโดยคว้า 10 รางวัล จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชน ระดับโลก Regeneron International Science and Engineering Fair (ISEF) 2022 ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับการประกวด ISEF 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีเยาวชนไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขันรวม 16 ทีม เป็นทีมจากโรงเรียนสังกัด สพฐ. 9 ทีม จากสังกัด สช. 2 ทีม จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 3 ทีม และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ 2 ทีม ทั้งหมดเป็นตัวแทนจากเวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ ค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2564 และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24 : YSC 2022 โดยในการประกวด ISEF 2022 ปีนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนกว่า 1,410 ผลงาน จากนักเรียน 1,750 คน จาก 130 ประเทศ และรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา แบ่งการแข่งขันออกเป็น 21 ประเภทรางวัล

 โดยตัวแทนเยาวชนไทยได้รับรางวัลในงานประกวดครั้งนี้ จำนวน 10 รางวัล ได้แก่

Grand Award อันดับ 1 เงินรางวัล $5,000 จำนวน 2 รางวัล และรางวัลพิเศษ 1 รางวัล

1) Grand Award, First Place Award in Computational Biology and Bioinformatics

ได้แก่ “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” จากการส่งโครงงานเรื่อง “การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำ โดยใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์”

2) Grand Awards First Place Award in Translational medical science

ได้แก่ “โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย” จ.เชียงใหม่ จากการส่งโครงงานเรื่อง “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับจากภาพถ่ายอุจจาระ และการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี AI”

3) The Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations of $50,000 รางวัลที่ยกย่องให้กับโครงงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป รับเงินรางวัลมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท ได้แก่ “โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย” จ.เชียงใหม่ จากการส่งโครงงานเรื่อง “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับจากภาพถ่ายอุจจาระและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี AI”

Grand Award อันดับ 2 เงินรางวัล $2,000 จำนวน 1 รางวัล

1) Grand Award, Second Place Award in Earth and Environmental Sciences

จาก “โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี” จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงการการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล”

Grand Award อันดับ 3 เงินรางวัล $1,000 จำนวน 1 รางวัล

1) Grand Award, Third Place Award in Animal Science

จาก “โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี” จากการส่งโครงงานเรื่อง “การเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยแสงสีเพื่อลดอัตราการตายจากพฤติกรรมการสลัดขาทิ้ง”

Grand Award อันดับ 4 เงินรางวัล $500 จำนวน 3 รางวัล

1) Grand Award, Fourth Place Award in Biomedical and Health Sciences

จาก “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม ”

2) Grand Award, Forth Place Award in Biomedical Engineering

จาก “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงงานการพัฒนาเข็มระดับไมโครเพื่อการตรวจวัดแบบ non-invasive ของสารครีเอตินินในของเหลวระหว่างเซลล์สู่นวัตกรรมการประเมินโรคไตแบบพกพา”

3) Grand Award, Forth Place Award in Physics and Astronomy

จาก “โรงเรียนเบญจมราชูทิศ” จังหวัดนครศรีธรรมราช จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงงานการแกว่งของลูกตุ้มที่มีกระแสลมรบกวน”

Special Award จำนวน 2 รางวัล

1) Special Award First Life Science Award เงินรางวัล $1,500 จาก Sigma Xi, The Scientific

จาก “โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี” จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงการการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล”

2) Special Award จาก USAID Science for Development First Award – Global Health

จาก “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” จากการส่งโครงงานเรื่อง “โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม ”

ทั้งนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยทั้ง 16 ทีม ที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในเวทีระดับโลก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 ทีม โดยขอชื่นชมนักเรียนที่ใช้ความสามารถในการทำโครงงานศึกษาวิจัยได้อย่างสร้างสรรค์ เหมาะสมกับสภาพบริบทในปัจจุบัน ส่งผลให้ได้รับรางวัลที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และขอขอบคุณผู้อำนวยการ สบว. สำนักงานเขตพื้นที่ฯ รวมถึงโรงเรียน คณะครู และหน่วยงาน สวทช. ที่ได้ร่วมกันสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงให้โครงงานของนักเรียนก้าวสู่ความสำเร็จในเวทีระดับโลก ขณะเดียวกัน ขอแสดงความชื่นชมกับผลงานความสำเร็จของนักเรียนและครูที่ปรึกษา จากโรงเรียนในสังกัด สช. รวมถึงโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่ได้ทุ่มเทในการศึกษาวิจัย ทำโครงงานจนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลในเวทีระดับโลก แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถและศักยภาพของเยาวชนไทยที่อยู่ในระดับเดียวกับโรงเรียนชั้นนำของนานาชาติ

นอกจากนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้บูรณาการร่วมกันในการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทีมนักเรียนไทยในครั้งนี้ โดยนอกจากทีมผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาให้นักเรียนได้แสดงออกถึงศักยภาพของตนเองแล้ว ต้องขอขอบคุณเครือข่ายที่มีความพร้อมในทุกด้าน เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัยพี่เลี้ยง และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยเหลือ สนับสนุน ให้คำแนะนำและฝึกฝนเติมเต็มทักษะให้กับนักเรียนแต่ละคน จนสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ทางด้านคณะครูทุกท่านก็ได้ทุ่มเทสละเวลา มองเห็นศักยภาพ ส่งเสริมสนับสนุน ต่อยอด เติมเต็ม อีกทั้งยังดูแลนักเรียนอย่างดีทั้งในช่วงฝึกฝนประสบการณ์และช่วงเวลาแข่งขัน ช่วยให้นักเรียนไม่เกิดความเครียดและความกดดัน ได้แสดงออกถึงศักยภาพอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับ สวทช. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ารับการคัดเลือกในเวทีระดับประเทศ และมุ่งมั่นสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาโครงงานสู่เวทีนานาชาติ ตลอดจนดูแลเป็นพี่เลี้ยงในการส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันในเวที ISEF 2022 ในครั้งนี้เป็นอย่างดี

RANDOM

NEWS

สอศ. ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิด ‘ห้องปฏิบัติการภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลก’ ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนุนสร้างแรงงานคุณภาพสมรรถนะสูง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน

กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนนักออกแบบ ผู้ประกอบการ สมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2567 ‘Design Excellence Award 2024’ (DEmark) จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์ อย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 3 มิถุนายน 2567

error: Content is protected !!